Pages

วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2556

วิธีต่ออายุอย่างง่ายๆ โดยหลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง



การต่ออายุก็ต้องทำให้มันถูก ถ้าทำไม่ถูกแล้วก็เสียเงินเปล่า
ถ้าบังเอิญเป็น อายุขัยต่อเท่าไรไม่สำเร็จผล เพราะเชื้อไฟเดิมดับ
หมดบุญบารมีที่ทำมา การหมดบุญบารมีนั้นแม้อายุขัยก็ไม่แน่
บางคนเป็นเด็กก็หมดอายุขัย บางคนก็เป็นหนุ่ม เป็นสาว
บางคนวัยกลางคน บางคนก็ถึงวัยแก่ อายุขัยนี่ไม่แน่นอนนัก

คำว่า อายุขัย นี่หมายความว่าก่อนที่จะเกิด กฎของกรรมดีหรือกรรมชั่ว
กำหนดชีวิตให้มาเท่าไรถ้ากำหนดชีวิตมา ๒๐ ปี ก็ต้องแค่ ๒๐ ปี
๑๐ ปีก็ต้อง ๑๐ ปี ๓ วัน ก็ต้องแค่ ๓ วัน นี่เป็นอายุขัยต่อไม่ได้
ถ้าตายก่อนนั้นเขาเรียกว่า "อุปฆาตกกรรม" หรือว่า "อกาลมรณะ"
อย่างนี้ต่อได้ และถ้าบรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายจะต่ออายุแบบนี้
ก็ต่อเสียทุกวันก็หมดเรื่องกัน

วิธีต่อทุกวัน ก็หมายความว่า ให้ทุกท่านมีความเคารพในพระรัตนตรัย
คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ อย่างจริงจัง
และก็ต้องเว้นจากกรรมที่ เป็น ปาณาติบาต และถ้ามีเวลาเดินผ่านไป
มีใครเขาหาปลาหาเต่า ที่เขาจะฆ่ามันให้ตายก็ออกสตางค์ซื้อ
พอกำลังที่เราจะซื้อได้ แล้วก็นำไปปล่อยในที่ปลอดภัย
ไม่ใช่ปล่อยในหม้อข้าวหม้อแกงของเรานะ
ไปปล่อยในสถานที่ ๆ เธอจะมีความสุขในแม่น้ำก็ได้
หนอง คลอง บึงก็ได้ปล่อยให้เธอรอดชีวิต

ตามวิธีโบราณาจารย์ท่านสอนไว้อย่างนี้นะว่า

วิธีต่ออายุใหญ่ คือถึงปีหนึ่งถ้าเป็นวันเกิด หรือเป็นวันสำคัญของเรา
วันไหนก็ได้ทำกับข้าว ทำอาหารพิเศษตามที่เราพอใจ เท่าที่ทุนจะพึงมี
จัดการใส่บาตรแก่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา แล้วก็ถ้าหากว่ามีสตางค์
ก็สร้างพระพุทธรูปสัก ๑ องค์

พระพุทธรูปนี่จะเป็นพระดินเหนียวก็ได้ เป็นพระปูนซีเมนต์ก็ได้
เป็นปูนปลาสเตอร์ก็ได้ หรือพระโลหะก็ได้ไม่จำกัด เพราะเป็นรูปพระแล้ว
มีอานิสงส์เสมอกัน แต่ต้องมีหน้าตักไม่น้อยกว่า ๔ นิ้ว
ถวายไว้เป็นสมบัติของสงฆ์

หลังจากนั้นก็เอาสัตว์ที่จะพึงถูกฆ่าตาย อย่างที่เขานำเอามาขายเพื่อแกง
หรือที่เขาทอดแหสุ่มปลาได้ ถ้ามีสตางค์ก็ไปซื้อเขาสักตัว ๒ ตัว
ตามกำลัง แล้วปล่อยไป และก็อุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวร
และเทวดาผู้รักษาชีวิต ท่านบอกว่าถ้าทำอย่างนี้เป็นนิจ
คำว่า อุปฆาตกกรรม คือกรรมที่เข้ามาริดรอนก่อนอายุขัยก็ดี
และ อกาลมรณะ การที่จะตายก่อนอายุขัยก็ดี จะไม่มีสำหรับผู้ที่ทำแบบนี้
แต่ทว่าถ้ากรรมอย่างนี้เข้ามาถึงแค่ป่วยไม่มากก็เป็นของธรรมดา

เรื่องการต่ออายุนี่ มีในพระพุทธศาสนา

แต่ว่าวิธีการต่ออายุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถ้าเดี๋ยวนี้ที่ทำกันก็จ่ายหนักอยู่เหมือนกันนะ เอาพระไปสวดตั้ง ๗ วันนี่
เสียทั้งข้าว ทั้งน้ำ นี่บางทีก็ต้องจ่ายสตางค์ด้วย แย่เหมือนกันนะ
พระเองก็จะทนไม่ไหว ก็เลยใช้สายสิญจน์ก็แล้วกัน
แต่ว่าสายสิญจน์ที่ทำกันนั้น ก็อย่าลืมพระรัตนตรัย
แต่ทางที่ดีญาติโยมพุทธบริษัทถ้าจะทำอย่างนั้นนะ
ถ้าคนป่วยจริง ๆ อย่าปล่อยให้ไม่มีความรู้สึก
ตอนที่สติยังอยู่ดี ๆ อยู่ ให้นิมนต์พระไปสวดสักครั้งหนึ่ง
แต่ไม่ใช่สวด อภิธรรม หากเป็นสวด พระปริตร
วงสายสิญจน์ล้อมรอบ ถ้าผู้ป่วยจะต้องตายเพราะสิ้นอายุขัย
ก็ต้องตายแน่ สายสิญจน์ป้องกันไม่ได้

แต่ว่าถ้าท่านผู้นั้นจะตาย อย่าลืมว่าคนป่วยก็เหมือนกับคนที่ตกน้ำ
ว่ายน้ำไม่เป็นเราส่งอะไรให้เกาะเขาก็จะเกาะ ส่งไม้ให้เกาะเธอก็เกาะ
ส่งสุนัขเน่าให้เกาะ เธอก็เกาะ เพราะต้องการทรงชีวิตอยู่ ก็เช่นกัน
ถ้าคนป่วย เห็นพระสวด พระปริตร จิตของคนป่วยในตอนนั้น
ได้รับสมาทานศีลก่อน เวลานั้นก็จะรับการสมาทานศีลอยู่ด้วย
สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ทำให้เป็นคนที่มีศีลเวลาที่มีการสวด พระปริตร
จิตก็จะฟังพระสวดด้วยความเคารพ จิตจะยึดอยู่กับพระหลังจากพระกลับแล้ว
จิตจะจับอารมณ์นั้นตลอด เพราะในขณะป่วยไม่มีโอกาสทำลายศีลต่อไปอีก
เพราะกำลังป่วยอยู่ก็ไม่สามารถที่จะไปฆ่าใคร หรือลักขโมยใคร
ถือว่าเป็นคนป่วยที่มีศีลบริสุทธิ์

ถ้ามีการถวายทานด้วย ไม่ว่าทานนั้นจะเป็น ธูป เทียน ดอกไม้
หรือปัจจัยโภชนาหารก็ตามถือว่าเป็นการถวายทานแก่พระสงฆ์
กำลังของทานจะช่วยคนป่วยได้อีกแรงหนึ่ง อีกประการหนึ่ง
ด้านอนุสสติ ถ้ามีพระพุทธรูปด้วย จิตของเธอจะจับพระพุทธรูป
เป็นพุทธานุสสติ จำเสียงสวดเป็น ธัมมานุสสติ การนึกถึงพระสงฆ์
ไปสวดก็เป็น สังฆานุสสติ ถ้าเป็นอายุขัยที่จะพึงตาย
บาปกรรมใด ๆ ที่ทำมาแล้วในกาลก่อนจะไม่มีโอกาสให้ผลในเวลานั้น
เหลือแต่บุญอย่างเดียวที่จะประคับประคองคนนั้นไปสวรรค์
ไปพรหมโลกหรือไปนิพพาน

ที่ มา : http://www.mettajetovimuti.org/

เชิญแวะอ่านธรรมะของหลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง ที่
เฟสบุ๊ค ศูนย์พุทธศรัทธา
และร่วมกันแบ่งปันธรรมะของหลวงพ่อฯ ไปยังกระดานของท่านเพื่อเป็นธรรมทาน

เว็บทางนิพพาน เว็บไซด์ เผยแพร่ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น
ที่รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน
ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่www.tangnipparn.com
ขอเชิญแวะเยี่ยมชมและโมทนาบุญเว็บศูนย์พุทธศรัทธา

ประวัติ หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด วัดช้างให้

สมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงพ่อทวด เป็นที่รู้จักของชาวไทยทุกภูมิภาคในฐานะพระศักดิ์สิทธิ์ที่มีอิทธิปาฏิหาริย์และอภิญญาแก่กล้าจนได้สมญาว่า หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ประวัติอันพิสดารของท่านมีเล่าสืบกันมาไม่รู้จบสิ้น ยิ่งนานวันยิ่งซับซ้อนและขยายวงกว้างออกไปกลายเป็นความเชื่อความศรัทธาอย่างฝังใจ
หลวงปู่ทวดเป็น บุคคลที่มีตัวตนจริงๆ เรื่องราวต่อไปนี้ผู้เขียนได้รวบรวมจากหนังสืออ้างอิงหลายเล่มทั้งที่เป็น ตำนานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หนังสือและเอกสารต่างๆ พอจะให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่า หลวงพ่อทวดคือใคร เกิดในสมัยใดและได้สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและพระศาสนาไว้อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นคติเตือนใจแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป

ทารกอัศจรรย์
         เมื่อประมาณสี่ร้อยปีที่ผ่านมาในตอนปลายรัชสมัยของพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา ณ หมู่บ้านสวนจันทร์ ตำบลชุมพล เมืองจะทิ้งพระตรงกับวันศุกร์ เดือนสี่ ปีมะโรง พุทธศักราช 2125 ได้มีทารกเพศชายผู้หนึ่งถือกำเนิดจากครอบครัวเล็กๆ ฐานะยากจนแร้นแค้น แต่มีจิตอันเป็นกุศล ชอบทำบุญสุนทานยึดมั่นในศีลธรรมอันดี ปราศจากการเบียดเบียนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ทารกน้อยผู้ นี้มีนามว่า “ปู” เป็นบุตรของนายหู นางจันทร์ ในขณะเยาว์วัย ทารกผู้นั้นยังความอัศจรรย์ให้แก่บิดามารดาตลอดจนญาติพี่น้องทั้งหลาย ด้วยอยู่มาวันหนึ่งมีงูตระบองสลาตัวใหญ่มาขดพันอยู่รอบเปลที่ทารกน้อยนอน หลับอยู่ และงูใหญ่ตัวนั้นไม่ยอมให้ใครเข้ามาใกล้เปลที่ทารกน้อยนอนอยู่เลย จนกระทั่งบิดามารดาของเด็กเกิดความสงสัยว่า พญางูตัวนั้นน่าจะเป็นเทพยดาแปลงมาเพื่อให้เห็นเป็นอัศจรรย์ในบารมีของลูก เราเป็นแน่แท้ จึงรีบหาข้าวตอกดอกไม้และธูปเทียนมาบูชาสักการะ งูใหญ่จึงคลายลำตัวออกจากเปลน้อย เลื้อยหายไป ต่อมาเมื่อพญางูจากไปแล้ว บิดามารดาทั้งญาติต่างพากันมาที่เปลด้วยความห่วงใยทารก ก็ปรากฏว่าเด็กชายปูยังคงนอนหลับอยู่เป็นปกติ แต่เหนือทรวงอกของทารกกลับมีดวงแก้วดวงหนึ่งมีแสงรุ่งเรืองเป็นรัศมีหลากสี ตาหู นางจันทร์จึงเก็บรักษาไว้ นับแต่บัดนั้นฐานะความเป็นอยู่การทำมาหากินก็จำเริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ อยู่สุขสบายตลอดมา
สามีราโม
         เมื่อกาลล่วงมานานจนเด็กชายปูอายุได้เจ็ดขวบ บิดาได้นำไปฝากสมภารจวง วัดกุฏิหลวง (วัดดีหลวง) เพื่อให้เล่าเรียนหนังสือเด็กชายปูมีความเฉลียวฉลาดมาก สามารถเรียนหนังสือขอมและไทยได้อย่างรวดเร็ว ครั้นอายุได้ 15 ปี ก็บรรพชาเป็นสามเณรและบิดาได้มอบแก้ววิเศษไว้เป็นของประจำตัว ต่อมาสามเณรปูได้ไปศึกษาต่อกับสมเด็จพระชินเสน ที่วัดสีหยัง (สีคูยัง) ครั้นอายุครบอุปสมบทจึงได้เดินทางไปศึกษาต่อที่นครศรีธรรมราช ณ สำนักพระมหาเถระปิยทัสสี ได้ทำการอุปสมบทมีฉายาว่า “ราโม ธมฺมิโก” แต่คนทั่วไปเรียกท่านว่า “เจ้าสามีราม” หรือ “เจ้าสามีราโม” เจ้าสามีรามได้ศึกษาอยู่ที่วัดท่าแพ วัดสีมาเมือง และวัดอื่นๆ อีกหลายวัด เมื่อเห็นว่าการศึกษาที่นครศรีธรรมราชเพียงพอแล้วจึงขอโดยสารเรือสำเภาเดิน ทางไปกรุงศรีอยุธยา ขณะเดินทางถึงเมืองชุมพร เกิดคลื่นทะเลปั่นป่วน เรือไม่สามารถแล่นฝ่าคลื่นลมไปได้ต้องทอดสมออยู่ถึงเจ็ดวัน ทำให้เสบียงอาหารและน้ำหมดบรรดาลูกเรือตั้งข้อสงสัยว่าการที่เกิดเหตุอาเพศ ในครั้งนี้เพราะเจ้าสามีราม จึงตกลงใจให้ส่งเจ้าสามีรามขึ้นเกาะและได้นิมนต์ให้เจ้าสามีรามลงเรือมาด ขณะที่นั่งอยู่ในเรือมาดนั้น ท่านได้ห้อยเท้าแช่ลงไปในทะเลก็บังเกิดอัศจรรย์น้ำทะเลบริเวณนั้นเป็นประกาย แวววาวโชติช่วง
         เจ้าสามีรามจึงบอกให้ลูกเรือตักน้ำขึ้นมาดื่มก็รู้สึกว่าเป็นน้ำจืด จึงช่วยกันตักไว้จนเพียงพอ นายสำเภาจึงนิมนต์ให้ท่านขึ้นสำเภาอีก และตั้งแต่นั้นมาเจ้าสามีรามก็เป็นชีต้นหรืออาจารย์สืบมา
         เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยา ก็ได้ไปพำนักอยู่ที่วัดแค ศึกษาธรรมะที่ วัดลุมพลีนาวาส ต่อมาได้ไปพำนักอยู่ที่วัดของสมเด็จพระสังฆราช ได้ศึกษาธรรมและภาษาบาลี ณ ที่นั้นจนเชี่ยวชาญจึงทูลลาสมเด็จพระสังฆราชไปจำพรรษาที่วัดราชนุวาส เมื่อประมาณ พ.ศ. 2149 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ

รบด้วยปัญญา
         กระทั่งวันหนึ่งถึงกาลเวลาที่ชื่อเสียงของหลวงปู่ทวดหรือเจ้าสามีรามจะระบือ ลือลั่นไปทั่วกรุงสยาม จึงได้มีเหตุพิสดารอุบัติขึ้นในรัชสมัยของพระเอกาทศรถ กล่าวคือ สมัยนั้นพระเจ้าวัฏฏะคามินี แห่งประเทศลังกา ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรแหลมทองทางภาคใต้ คิดแก้มือด้วยการท้าพนันแปลธรรมะ และต้องการจะแผ่พระบรมเดชานุภาพมาทางแหลมทอง ใคร่จะได้กรุงศรีอยุธยามาเป็นประเทศราช แต่พระองค์ไม่ปรารถนาให้เกิดศึกสงครามเสียชีวิตแก่ประชาชนทั้งสองฝ่าย จึงทรงวางแผนการเมืองด้วยสันติวิธี คิดหาทางรวบรัดเอากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นด้วยสติปัญญาเป็นสำคัญ เมื่อคิดได้ดังนั้น พระเจ้ากรุงลังกาจึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้พนักงาน ท้องพระคลังเบิกจ่ายทองคำบริสุทธิ์แล้วให้ช่างทองประจำราชสำนักไปหล่อ ทองคำเหล่านั้นให้เป็นตัวอักษรบาลีเล็กเท่าใบมะขาม ตามพระอภิธรรมทั้งเจ็ดคัมภีร์ จำนวน 84,000 ตัว จากนั้นก็ทรงรับสั่งให้พราหมณ์ผู้เฒ่าอันมีฐานะเทียบเท่าปุโรหิตจำนวนเจ็ด ท่านคุมเรืองสำเภาเจ็ดลำบรรทุกเสื้อผ้าแพรพรรณ และของมีค่าออกเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับปริศนาธรรมของพระองค์
         เมื่อพราหมณ์ทั้งเจ็ดเดินทางลุล่วงมาถึงกรุงสยามแล้วก็เข้าเฝ้าถวายพระราช สาส์นของกษัตริย์ตนแก่พระเจ้าเอกาทศรถ มีใจความในพระราชสาส์นว่าพระเจ้ากรุงลังกาขอท้าให้พระเจ้ากรุงสยามทรงแปลและ เรียบเรียงเมล็ดทองคำตามลำดับให้เสร็จภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับ พระราชสาส์นนี้เป็นต้นไป ถ้าทรงกระทำไม่สำเร็จตามสัญญาก็จะยึดกรุงศรีอยุธยาให้อยู่ใต้พระบรมเดชานุ ภาพของพระองค์ และทางกรุงสยามจะต้องส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองอีกทั้งเครื่องราชบรรณาการแก่ กรุงลังกาตลอดไปทุกๆ ปี เยี่ยงประเทศราชทั้งหลาย.


พระสุบินนิมิตร
เมื่อพระเอกาทศรถทรงทราบความ ดังนั้น จึงมีพระบรมราชโองการให้สังฆการีเขียนประกาศนิมนต์พระราชาคณะและพระเถระทั่ว พระมหานคร ให้กระทำหน้าที่เรียบเรียงและแปลตัวอักษรทองคำในครั้งนี้ แต่ก็ไม่มีท่านผู้ใดสามารถเรียบเรียงและแปลอักษรทองคำในครั้งนี้ได้จนกาล เวลาลุล่วงผ่านไปได้หกวัน ยังความปริวิตกแก่พระองค์และไพร่ฟ้าประชาชนต่างพากันโจษขานถึงเรื่องนี้ให้ อื้ออึงไปหมด
ครั้นราตรีกาลยามหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้าพระบรรทมทรงสุบิน ว่า ได้มีพระยาช้างเผือกลักษณะบริบูรณ์เฉกเช่นพระยาคชสารเชือกหนึ่ง ผายผันมาจากทางทิศตะวันตก เยื้องย่างเข้ามาในพระราชนิเวศน์แล้วก้าวเข้าไปยืนผงาดตระหง่านบนพระ แท่นพลางเปล่งเสียงโกญจนาทกึกก้องไปทั่วทั้งสี่ทิศ เสียงที่โกญจนาทด้วยอำนาจของพระยาคชสารเชือกนั้นยังให้พระองค์ทรงสะดุ้งตื่น จากพระบรรทม
รุ่งเช้าเมื่อพระองค์เสด็จออกว่าราชการ ได้ทรงรับสั่งถึงพระสุบินนิมิตประหลาดให้โหรหลวงฟังและได้รับการกราบถวาย บังคมทูลว่า เรื่องนี้หมายถึงชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์และพระบรมเดชานุภาพจะแผ่ไพศาล ไปทั่วสารทิศเป็นที่เกรงขามแก่อริราชทั้งปวง ทั้งจะมีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งจากทางทิศตะวันตก มาช่วยขันอาสาแปลและเรียบเรียงตัวอักษรทองคำปริศนาได้สำเร็จ พระเจ้าอยู่หัวได้ฟังดังนั้นจึงค่อยเบาพระทัย และรับสั่งให้ข้าราชบริพารทั้งมวลออกตามหาพระภิกษุรูปนั้นทันที

อักษรเจ็ดตัว
         ต่อมาสังฆการีได้พยายามเสาะแสวงหาจนไปพบ “เจ้าสามีราม” ที่วัดราชานุวาส และเมื่อได้ไต่ถามได้ความว่าท่านมาจากเมืองตะลุง (พัทลุงในปัจจุบัน) เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย สังฆการี จึงเล่าความตามเป็นจริงให้เจ้าสามีรามฟังทั้งได้อ้างตอนท้ายว่า เห็น จะมีท่านองค์เดียวที่ตรงกับพระสุบินของพระเจ้าอยู่หัว จึงใคร่ขอนิมนต์ให้ไปช่วยแก้ไขในเรื่องร้ายดังกล่าวให้กลายเป็นดี ณ โอกาสนี้” ครั้นแล้วเจ้าสามีรามก็ตามสังฆการีไปยังที่ประชุมสงฆ์ ณ ท้องพระโรง พระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้พนักงานปูพรมให้ท่านนั่งในที่อันควร พราหมณ์ทั้งเจ็ดคนได้ประมาทเจ้าสามีรามโดยว่า เอาเด็กสอนคลานมาให้แก้ปริศนา เจ้าสามีรามก็แก้คำพราหมณ์ว่า กุมารเมื่ออกมาแต่ครรภ์พระมารดา กี่เดือนกี่วันจึงรู้คว่ำ กี่เดือนกี่วันจึงรู้นั่ง กี่เดือนกี่วันจึงรู้คลาน จะว่ารู้คว่ำแก่ หรือจะว่ารู้นั่งแก่ หรือจะว่ารู้คลานแก่ ทำไมจึงว่าเราจะแก้ปริศนาธรรมมิได้ พราหมณ์ก็นิ่งไปไม่สามารถตอบคำถามท่านได้ จากนั้นจึงรีบนำบาตรใส่อักษรทองคำเข้าไปประเคนแก่เจ้าสามีราม ท่านรับประเคนมาจากมือพราหมณ์แล้วนั่งสงบจิตอธิษฐานว่า “ขออำนาจ คุณบิดามารดาครูบาอาจารย์และอำนาจผลบุญกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อนและอำนาจ เทพยดาที่รักษาพระนครตลอดถึงเทวดาอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ครั้งนี้อาตมาจะแปลพระธรรมช่วยกู้บ้านกู้เมือง ขอให้ช่วยดลบันดาลจิตใจให้สว่างแจ้งขจัดอุปสรรคที่จะมาขัดขวาง ขอให้แปลพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าสำเร็จสมปรารถนาเถิด” ท่านรับประเคนมาจากมือพราหมณ์แล้วนั่งสงบจิตอธิษฐานว่า “ขอ อำนาจคุณบิดามารดาครูบาอาจารย์และอำนาจผลบุญกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อนและ อำนาจเทพยดาที่รักษาพระนครตลอดถึงเทวดาอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ครั้งนี้อาตมาจะแปลพระธรรมช่วยกู้บ้านกู้เมือง ขอให้ช่วยดลบันดาลจิตใจให้สว่างแจ้งขจัดอุปสรรคที่จะมาขัดขวาง ขอให้แปลพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าสำเร็จสมปรารถนาเถิด”
         ครั้นแล้วท่านก็คว่ำบาตรเทอักษรทองคำเริ่มแปลปริศนาธรรมทันที ด้วยอำนาจบุญญาบารมี กฤษดาภินิหารของท่านที่ได้จุติลงมาเป็นพระโพธิสัตว์โปรดสัตว์ในพระพุทธศาสนา กอปรกับโชคชะตาของประเทศชาติที่จะไม่เสื่อมเสียอธิปไตย เดชะบุญญาบารมีในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เทพยาดาทั้งหลายจึงดลบันดาลให้ท่านเรียบเรียงและแปลอักษรจากเมล็ดทองคำ 84,000 ตัว เป็นลำดับโดยสะดวกไม่ติดขัดประการใดเลย
         ขณะที่ท่านเรียบเรียงและแปลอักษรไปได้มากแล้ว ปรากฏว่าเมล็ดทองคำตัวอักษรขาดหายไปเจ็ดตัวคือ ตัว สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ ท่านจึงทวงถามเอาที่พราหมณ์ทั้งเจ็ด พราหมณ์ทั้งเจ็ดก็ยอมจำนวน จึงประเคนเมล็ดทองคำที่ตนซ่อนไว้นั้นให้ท่านแต่โดยดี ปรากฏว่าท่านแปลพระไตรปิฎกจากเมล็ดทองคำสำเร็จบริบูรณ์เป็นการชนะพราหมณ์ใน เวลาเย็นของวันนั้น

พระราชมุนี

         สมเด็จพระเอกาทศรถทรงพระโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่ง ทรงมีรับสั่งถวายราชสมบัติให้แก่เจ้าสามีรามให้ครอง 7 วัน แต่ท่านก็มิได้รับโดยให้เหตุผลว่าท่านเป็นสมณะ พระองค์ก็จนพระทัยแต่พระประสงค์อันแรงกล้าที่จะสนองคุณความดีความชอบอันใหญ่ ยิ่งให้แก่ท่านในครั้งนี้ จึงพระราชทานสมณศักดิ์ให้เจ้าสามีรามเป็น “พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์” ในเวลานั้น พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์หรือหลวงพ่อทวดได้ไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดราชานุวาส ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่เป็นเวลาหลายปี ด้วยความสงบร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา
โรคห่าเหือดหาย
         ต่อจากนั้น กรุงศรีอยุธยาเกิดโรคห่าระบาดไปทั่วเมือง ประชาราษฎรล้มป่วยเจ็บตายลงเป็นอันมาก ประชาชนพลเมืองเดือดร้อนเป็นยิ่งนัก สมัยนั้นหยูกยาก็ไม่มี นิยมใช้รักษาป้องกันด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยพระเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตก กังวลมากเพราะไม่มีวิธีใดจะช่วยรักษาและป้องกันโรคนี้ได้ ทรงระลึกถึงพระราชมุนีฯ มีรับสั่งให้อำมาตย์ไปนิมนต์ท่านเจ้าเฝ้า ท่านได้ช่วยไว้อีกครั้งโดยรำลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัยและดวงแก้ววิเศษ แล้วทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมแก่ประชาชนทั่วทั้งพระนคร โรคห่าก็หายขาดด้วยอำนาจ คุณความดีและคุณธรรมอันสูงส่ง ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อนสมณศักดิ์ท่านขึ้นเป็นพระสังฆราชมีนามว่า “พระสังฆราชคูรูปาจารย์” และทรงพอพระราชหฤทัยในองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงมีรับสั่งว่า “หากสมเด็จเจ้าฯ ประสงค์สิ่งใด หรือจะบูรณะวัดวาอารามใดๆ ข้าพเจ้าจะอุปถัมภ์ทุกประการ”
กลับสู่ถิ่นฐาน

         ครั้นกาลเวลาล่วงไปหลายปี สมเด็จเจ้าฯได้เข้าเฝ้า ถวายพระพรทูลลาจะกลับภูมิลำเนาเดิม พระองค์ทรงอาลัยมาก ไม่กล้าทัดทานเพียงแต่ตรัสว่า “สมเด็จอย่าละทิ้งโยม” แล้วเสด็จมาส่งสมเด็จเจ้าฯ จนสิ้นเขตพระนครศรีอยุธยา
         ขณะที่ท่านรุกขมูลธุดงค์ สมเด็จเจ้าฯ ได้เผยแผ่ธรรมะไปด้วยตามเส้นทาง ผ่านที่ไหนมีผู้เจ็บป่วยก็ทำการรักษาให้ ตามแนวทางที่ท่านเดินพักแรมที่ใดนั้น ที่นั่นก็เกิดเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนในถิ่นนั้นได้ทำการเคารพสักการะบูชามาถึงบัดนี้ ได้แก่ที่บ้านโกฏิ อำเภอปากพนัง ที่หัวลำภูใหญ่ อำเภอหัวไทร และอีกหลายแห่ง

สมเด็จเจ้าพะโคะ
ต่อจากนั้น ท่านก็ได้ธุดงค์ไปจนถึงวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ อันเป็นจุดหมายปลายทาง ประชาชนต่างซึ่งชื่นชมยินดีแซ่ซ้องสาธุการต้อนรับท่านเป็นการใหญ่ และได้พร้อมกันถวายนามท่านว่า “สมเด็จเจ้าพะโคะ” และเรียกชื่อวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะว่า “วัดพะโคะ” มาจนบัดนี้ สมเด็จเจ้าฯ เห็นวัดพระโคะเสื่อมโทรมมาก เนื่องจากถูกข้าศึกทำลายโจรกรรม มีสภาพเหมือนวัดร้างสมเด็จเจ้าฯ กับท่านอาจารย์จวง คิดจะบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพะโคะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ยินดีและอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง โปรดให้นายช่างผู้ชำนาญ 500 คน และทรงพระราชทานสิ่งของต่างๆ และเงินตราเพื่อการนี้เป็นจำนวนมาก ใช้เวลาประมาณ 3 ปี จึงแล้วเสร็จ สิ่งสำคัญในวัดพะโคะหรือ พระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งพระอรหันต์นามว่าพระมหาอโนมทัสสีได้เป็นผู้ เดินทางไปอัญเชิญมาจากประเทศอินเดียสมเด็จเจ้าฯ ได้จำพรรษาเผยแผ่ธรรมที่วัดพะโคะอยู่หลายพรรษา
 

เหยียบน้ำทะเลจืด
         ขณะที่สมเด็จเจ้าฯ จำพรรษาอยู่ ณ วัดพะโคะ ครั้งนี้คาดคะเนว่า ท่านมีอายุกาลถึง 80 ปีเศษ อยู่มาวันหนึ่งท่านถือไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์ประจำตัวไม้เท้านี้มีลักษณะคดไปมา เป็น 3 คด ชาวบ้านเรียกว่า “ไม้เท้า 3 คด” ท่านออกจากวัดมุ่งหน้าเดินไปยังชายฝั่งทะเลจีน ขณะที่ท่านเดินพักผ่อนรับอากาศทะเลอยู่นั้น ได้มีเรือโจรสลัดจีนแล่นเลียบชายฝั่งมา พวกโจรจีนเห็นท่านเดินอยู่คิดเห็นว่าท่านเป็นคนประหลาดเพราะท่านครองสมณเพศ พวกโจรจึงแวะเรือเทียบฝั่งจับท่านลงเรือไป เมื่อเรือโจรจีนออกจากฝั่งไม่นาน เหตุมหัศจรรย์ก็ปรากฏขึ้น คือ เรือลำนั้นแล่นต่อไปไม่ได้ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ พวกโจรจีนพยายามแก้ไขจนหมดความสามารถเรือก็ยังไม่เคลื่อน จึงได้จอดเรือนิ่งอยู่ ณ ที่นั้นเป็นเวลาหลายวันหลายคืน ในที่สุดน้ำจืดที่นำมาบริโภคในเรือก็หมดสิ้น จึงขาดน้ำจืดดื่มและหุงต้มอาหารพากันเดือดร้อนกระวนกระวายด้วยกระหายน้ำเป็น อย่างมาก สมเด็จเจ้าฯ ท่านเห็นเหตุการณ์ความเดือดร้อนของพวกโจรถึงขั้นที่สุดแล้ว ท่านจึงเหยียบกราบเรือให้ตะแคงต่ำลงแล้วยื่นเท้าเหยียบลงบนผิวน้ำทะเลทั้ง นี้ย่อมไม่พ้นความสังเกตของพวกโจรจีนไปได้
         เมื่อท่านยกเท้าขึ้นจากพื้นน้ำทะเลแล้วก็สั่งให้พวกโจรตักน้ำตรงนั้นมาดื่ม ชิมดู พวกโจรจีนแม้จะไม่เชื่อก็จำเป็นต้องลองเพราะไม่มีทางใดจะช่วยตัวเองได้แล้ว แต่ได้ปรากฏว่าน้ำทะเลเค็มจัดที่ตรงนั้นแปรสภาพเป็นน้ำจืดเป็นที่อัศจรรย์ ยิ่งนัก พวกโจรจีนได้เห็นประจักษ์ในคุณอภินิหารของท่านเช่นนั้น ก็พากันหวาดเกรงภัยที่จะเกิดแก่พวกเขาต่อไป จึงได้พากันกราบไหว้ขอขมาโทษแล้วนำท่านล่องเรือส่งกลับขึ้นฝั่งต่อไป
         เมื่อสมเด็จเจ้าฯ ขึ้นจากเรือเดินกลับวัด ถึงที่แห่งหนึ่งท่านหยุดพักเหนื่อย ได้เอา “ไม้เท้า 3 คด” พิงไว้กับต้นยางสองต้นอันยืนต้นคู่เคียงกัน ต่อมาต้นยางสองต้นนั้นสูงใหญ่ขึ้น ลำต้นและกิ่งก้านสาขาเปลี่ยนไปจากสภาพเดิกกลับคดๆ งอๆ แบบเดียวกับรูปไม้เท้าทั้งสองต้น ประชาชนในถิ่นนั้นเรียกว่าต้นยางไม้เท้า ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งปรากฏอยู่ถึงทุกวันนี้
         สมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงปู่ทวดครองสมณเพศและจำพรรษาอยู่ที่วัดพะโคะ เป็นที่พึ่งของประชาราษฎร์มีความร่มเย็นเป็นสุข ได้ช่วยการเจ็บไข้ได้ทุกข์ บำรุงสุข เทศนาสั่งสอนธรรมของพระพุทธองค์ ประดุจร่มโพธิ์ร่มไทรของปวงพุทธศาสนิกชนตลอดมา
 สังขารธรรม
         หลังจากนั้นหลายพรรษา สมเด็จเจ้าฯ หายไปจากวัดพะโคะเที่ยวจาริกเผยแผ่ธรรมะไปหลายแห่ง จากหลักฐานทราบว่าท่านได้ไปพำนักที่เมืองไทรบุรี ชาวบ้านเรียกท่านว่า “ท่านลังกา” และได้ไปพำนักที่วัดช้างไห้ ชาวบ้านเรียกท่านว่า “ท่านช้างให้” ดังนี้ ท่านได้สั่งแก่ศิษย์ว่าหากท่านมรณภาพเมื่อใด ขอให้ช่วยกันจัดการหามศพไปทำการฌาปนกิจ ณ วัดช้างให้ด้วย ขณะหามศพพักแรมนั้น ณ ที่ใดน้ำเหลืองไหลลงสู่พื้นดิน ที่ตรงนั้นให้เอาเสาไม้แก่นปักหมายไว้ต่อไปข้างหน้าจะเป็นสถานที่ ศักดิ์สิทธิ์อยู่มาไม่นานเท่าไร ท่านก็ได้มรณภาพลงด้วยโรคชรา ปวงศาสนิกก็นำพระศพมาไว้ที่วัดช้างให้ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี สถานที่ที่สมเด็จเจ้าฯ เคยพำนักอยู่ หรือไปมา นับได้ดังนี้ วัดกุฎิหลวง วัดสีหยัง วัดเสมาเมือง นครศรีธรรมราช กรุงศรีอยุธยา วัดพะโคะ วัดเกาะใหญ่ วัดในไทรบุรี และวัดช้างให้

ปัจฉิมภาค
         สมเด็จเจ้าฯ ในฐานะพระโพธิสัตว์หน่อพระพุทธภูมิ ผู้ทรงศีลวิสุทธิทรงธรรมและปัญญาญาณอันล้ำเลิศ กอปรด้วยกฤษดาภินิหารและปาฏิหาริย์ไม่ว่าท่านจะพำนักอยู่สถานที่ใด ที่นั่นจะเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไม่ว่าท่านจะจาริกไป ณ ที่ใด ก็จะมีคนกราบไหว้ฟังธรรม หลักการปฏิบัติของท่านเป็นหลักสำคัญของพระโพธิสัตว์คือช่วยเหลือประชาชนและ เผยแพร่ธรรมะให้ชาวโลกอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีความเคารพเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ สมดังคำว่า “พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” ตลอดไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก:http://www.itti-patihan.com




วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

วัดสะแก ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา 

                                   รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้ง “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด”
                     ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ต.ขุนแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม



๏ ชาติภูมิ

พระคุณเจ้าหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ มีชาติกำเนิดในสกุล “หนูศรี” เดิมชื่อ ดู่ เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๔๗ ตรงกับศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะโรง อันเป็นวันเพ็ญวิสาขปุรณมี ณ บ้านข้าวเม่า ตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โยมบิดาชื่อ พุด โยมมารดาชื่อ พุ่ม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๓ คน ท่านเป็นบุตรคนสุดท้าย มีโยมพี่สาว ๒ คน มีชื่อตามลำดับดังนี้

๑. พี่สาวชื่อ นางทองคำ สุนิมิตร
๒. พี่สาวชื่อ นางสุ่ม พึ่งกุศล
๓. หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ  


๏ ปฐมวัยและการศึกษาเบื้องต้น

ชีวิตในวัยเด็กของท่านดูจะขาดความอบอุ่นอยู่มากด้วยกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่เยาว์วัย นายยวง พึ่งกุศล (บุตรของนางสุ่ม พึ่งกุศล โยมพี่สาวคนกลาง) ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของท่าน ได้เล่าให้ฟังว่า บิดามารดาของท่านมีอาชีพทำนา มีฐานะไม่ร่ำรวย โดยนอกฤดูทำนาจะมีอาชีพทำขนมไข่มงคลออกเร่ขายหารายได้อีกทางหนึ่ง

ขณะที่ท่านยังเป็นทารกน้อย ได้เกิดเหตุอัศจรรย์กับตัวท่านครั้งหนึ่งที่ควรบันทึกไว้ กล่าวคือ เวลานั้นเป็นฤดูน้ำหลาก น้ำเหนือได้ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ราบลุ่มแถบจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแทบ ทั้งหมด ท้องนาและบ้านเรือนที่อยู่อาศัยมีแต่น้ำเจิ่งนองไปทั่ว บ้านของบิดามารดาของท่านก็ถูกน้ำท่วมเช่นกัน ขณะที่บิดามารดาของท่านกำลังทอด “ขนมไข่มงคล” อยู่นั้น ท่านซึ่งถูกวางอยู่บนเบาะนอกชาน (ไม่มีระเบียงกั้น) คนเดียว ด้วยเห็นว่าเป็นที่โล่งโปร่ง ลมเย็นพัดโชยตลอดเวลา ไม่ทราบด้วยเหตุใดตัวท่านได้กลิ้งตกลงไปในน้ำทั้งคนทั้งเบาะ แต่เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งที่ตัวท่านไม่จมน้ำ กลับลอยน้ำจนไปติดอยู่ข้างรั้ว

กระทั่งสุนัขเลี้ยงที่บ้านท่านมาเห็นเข้า จึงได้เห่าขรมตรงนอกชาน แล้ววิ่งเข้ามาเห่าในครัวด้วยท่าทางลุกลน ก่อนจะวิ่งพล่านออกไปเห่าตรงนอกชานอีก เมื่อมารดาของท่านเห็นสุนัขแสดงกิริยาแปลกๆ รีบออกจากห้องครัวมาดู มองไปที่เบาะลูกชาย ปรากฏว่าหายไป ก็ตกใจสุดขีด วิ่งถลันไปที่สุดนอกชาน กวาดสายตามองหาไปรอบทิศ จึงได้เห็นเบาะหล่นจากชานเรือนลงไปในน้ำที่ท่วมเจิ่งด้านล่าง และลอยไปติดริมรั้ว กลางเบาะนั้นมีลูกชายตัวน้อยๆ นอนร้องอ้อแอ้อยู่ บิดาของท่านรีบกระโดดโครมลงไปในน้ำ ลุยไปที่เบาะลูกชาย เมื่ออุ้มลูกขึ้นมา ปรากฏว่าไม่เป็นอันตรายอย่างใด จึงประคับประคองกลับขึ้นบ้านด้วยความรู้สึกอัศจรรย์ใจเหลือจะกล่าว

บิดามารดาของท่านคิดหาสาเหตุที่ลูกตกไปในน้ำพร้อมๆ กับเบาะ ก็นึกไม่ออกว่าลูกจะดิ้นจนเบาะเลื่อนไหลไปจนสุดนอกชาน แล้วตกลงไป ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะลูกยังไม่คว่ำเสียด้วยซ้ำ จะดิ้นรนตะกายอย่างไร ก็ไม่ทำให้เบาะขยับเขยื้อนเคลื่อนที่ไปไกลถึงเพียงนั้น หรือจะว่ามีลมพัดอย่างแรงถึงกับหอบเอาเบาะลูกหล่นน้ำ บิดามารดาของท่านอยู่ในครัวใกล้ๆ ทำไมจึงไม่รู้ว่ามีลมพัด และถ้ากระแสลมรุนแรงถึงขั้นหอบเอาเบาะกับลูกปลิวตกเรือนไปได้ หลังคาบ้านก็คงเปิดเปิงด้วยกระแสลมไปแล้ว และที่น่าแปลกน่าอัศจรรย์ ก็คือ เมื่อเบาะมีเด็กทารกนอนอยู่ตกลงไปในน้ำ เหตุใดเบาะไม่พลิกคว่ำ หรือตัวเด็กไม่เลื่อนไหลตกน้ำไป ซ้ำเบาะยังลอยน้ำได้ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว เบาะไม่ควรจะรับน้ำหนักเด็กไว้ได้ถึงเพียงนั้น ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้บิดามารดาของท่านเชื่อมั่นว่า ท่านจะต้องเป็นผู้มีบุญวาสนามากมาแต่กำเนิดแน่นอน

มารดาของท่านได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเป็นทารกอยู่ ต่อมาบิดาของท่านก็จากไปอีกขณะท่านมีอายุได้เพียง ๔ ขวบเท่านั้น ท่านจึงต้องกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กจำความไม่ได้ ท่านได้อาศัยอยู่กับโยมยายโดยมีโยมพี่สาวคนกลางที่ชื่อ นางสุ่ม พึ่งกุศล เป็นผู้ดูแลเอาใจใส่ เมื่อเจริญเติบโตถึงวัยเรียน ท่านก็ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านที่วัดกลางคลองสระบัว วัดประดู่ทรงธรรม และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ตามลำดับ 


๏ สู่เพศพรหมจรรย์

เมื่อท่านอายุได้ ๒๑ ปี ก็ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีฉลู ณ พัทธสีมาวัดสะแก ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี หลวงพ่อกลั่น ธัมมโชติ เจ้าอาวาสวัดพระญาติการาม (ในขณะนั้น) เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อแด่ เจ้าอาวาสวัดสะแก (ในขณะนั้น) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ หลวงพ่อฉาย วัดกลางคลองสระบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “พรหมปัญโญ” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า “ผู้มีปัญญาประดุจพรหม”

ในพรรษาแรกๆ นั้น ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า วัดประดู่โรงธรรม โดยมีพระอาจารย์ผู้สอนคือท่านเจ้าคุณเนื่อง, พระครูชม และหลวงพ่อรอด (เสือ) เป็นต้น ในด้านการปฏิบัติพระกรรมฐานนั้น ท่านได้ศึกษากับหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ และหลวงพ่อเภา ซึ่งเป็นศิษย์องค์สำคัญของหลวงพ่อกลั่นและมีศักดิ์เป็นอาของท่าน เมื่อท่านบวชได้พรรษาที่ ๒ ประมาณปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๙ หลวงพ่อกลั่นมรณภาพ ท่านจึงได้ศึกษาหาความรู้จากหลวงพ่อเภาเป็นสำคัญ นอกจากนี้ท่านยังได้ศึกษาจากตำรับตำราที่มีอยู่ จากชาดกบ้าง จากธรรมบทบ้าง และด้วยความที่ท่านเป็นผู้ใฝ่รู้รักการศึกษา ท่านจึงได้เดินทางไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากพระอาจารย์อีกหลายท่านที่ จังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดสระบุรี
 

๏ ประสบการณ์ธุดงค์

ประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๖ ครั้นออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ดู่ท่านก็เริ่มออกเดินธุดงค์จากวัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีเป้าหมายที่ป่าเขาทางแถบจังหวัดกาญจนบุรี ใน ระหว่างทางก็แวะนมัสการสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น พระพุทธฉาย วัดพระพุทธฉาย และรอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรี จากนั้นท่านก็เดินธุดงค์ไปยังจังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จนกระทั่งถึงจังหวัดกาญจนบุรี จึงเข้าพักปฏิบัติตามป่าเขาและถ้ำต่างๆ

หลวงปู่ดู่ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกที่ท่านขวนขวายศึกษาและปฏิบัตินั้น แท้จริงมิได้มุ่งเน้นมรรคผลนิพพาน หากแต่ต้องการเรียนรู้ให้ได้วิชาต่างๆ เป็นต้นว่าวิชาคงกระพันชาตรี ก็เพื่อที่จะสึกออกไปแก้แค้นพวกโจรที่ปล้นบ้านโยมพ่อโยมแม่ท่านถึง ๒ ครั้ง แต่เดชะบุญ แม้ท่านจะสำเร็จวิชาต่างๆ ตามที่ตั้งใจไว้ ท่านกลับได้คิดนึกสลดสังเวชใจตัวเองที่ปล่อยให้อารมณ์อาฆาตแค้นทำร้ายจิตใจ ตนเองอยู่เป็นเวลานับสิบๆ ปี ในที่สุดท่านก็ได้ตั้งจิตอโหสิกรรมให้แก่โจรเหล่านั้น แล้วมุ่งปฏิบัติฝึกฝนอบรมตนตามทางแห่งศีล สมาธิ และปัญญา อย่างแท้จริง

ในระหว่างที่ท่านเดินธุดงค์อยู่นั้น ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ได้พบฝูงควายป่ากำลังเดินเข้ามาทางท่าน ท่านตั้งสติอยู่ครู่หนึ่งจึงตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว หยุดยืนภาวนานิ่งอยู่ ฝูงควายป่าที่มุ่งตรงมาทางท่าน พอเข้ามาใกล้จะถึงตัวท่าน ก็กลับเดินทักษิณารอบท่านแล้วก็จากไป บางแห่งที่ท่านเดินธุดงค์ไปถึง ท่านมักพบกับพวกนักเลงที่ชอบลองของ ครั้งหนึ่งมีพวกนักเลงเอาปืนมายิงใส่ท่านขณะนั่งภาวนาอยู่ในกลด ท่านเล่าให้ฟังว่า พวกนี้ไม่เคารพพระ สนใจแต่ “ของดี” เมื่อยิงปืนไม่ออก จึงพากันมาแสดงตัวด้วยความนอบน้อม พร้อมกับอ้อนวอนขอ “ของดี” ทำให้ท่านต้องออกเดินธุดงค์หนีไปทางอื่น

การปฏิบัติของท่านในช่วงธุดงค์อยู่นั้นเป็นไปอย่างเอาจริงเอาจัง ยอมมอบกายถวายชีวิตไว้กับป่าเขา แต่สุขภาพธาตุขันธ์ของท่านก็ไม่เป็นใจเสียเลย บ่อยครั้งที่ท่านต้องเอาผ้ามาคาดที่หน้าผากเพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะ อีกทั้งก็มีอาการเท้าชารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แม้กระนั้นท่านก็ยังไม่ละความเพียร สมดังที่ท่านเคยสอนลูกศิษย์ว่า “นิพพานอยู่ฟากตาย” ในการประพฤติปฏิบัตินั้นจำต้องยอมมอบกายถวายชีวิตลงไป ดังที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้ามันไม่ดีหรือไม่ได้พบความจริงก็ให้มันตาย ถ้ามันไม่ตายก็ให้มันดีหรือได้พบกับความจริง” ดังนั้น อุปสรรคต่างๆ จึงกลับเป็นปัจจัยช่วยให้จิตใจของผู้ปฏิบัติแข็งแกร่งขึ้นเป็นลำดับ
 

๏ นิมิตธรรม

อยู่มาวันหนึ่ง ประมาณก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เล็กน้อย หลังจากหลวงปู่ดู่สวดมนต์ทำวัตรเย็น และปฏิบัติกิจส่วนตัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านก็จำวัด เกิดนิมิตไปว่า ได้ฉันดาวที่มีแสงสว่างมาก ๓ ดวง ในขณะที่กำลังฉันอยู่นั้นก็รู้สึกว่ากรอบๆ ดี ก็เลยฉันเข้าไปทั้งหมด แล้วจึงตกใจตื่น

เมื่อท่านพิจารณาใคร่ครวญถึงนิมิตธรรมที่เกิดขึ้น ก็เกิดความเข้าใจขึ้นว่าแก้ว ๓ ดวงนั้น ก็คือ พระไตรสรณาคมน์นั่นเอง พอท่านกล่าวว่า “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ, สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” ก็เกิดอัศจรรย์ขึ้นในจิตท่าน พร้อมกับอาการปีติอย่างท่วมท้น ทั้งเกิดความรู้สึกลึกซึ้งและมั่นใจว่า พระ ไตรสรณาคมน์นี้แหล่ะเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา ท่านจึงกำหนดเอามาเป็นคำบริกรรมภาวนา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาท่านจึงเน้นหนักที่การปฏิบัติ

หลวงปู่ดู่ท่านให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของการปฏิบัติสมาธิภาวนา ท่านว่า “ถ้าไม่เอา (ปฏิบัติ) เป็นเถ้าเสียดีกว่า” ในสมัยก่อนเมื่อตอนที่ศาลาปฏิบัติธรรมหน้ากุฏิท่านยังสร้างไม่เสร็จนั้น ท่านก็เมตตาให้ใช้ห้องส่วนตัวที่ท่านใช้จำวัด เป็นที่รับรองสานุศิษย์และผู้สนใจได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม ซึ่งนับเป็นเมตตาอย่างสูง

สำหรับผู้ที่ไปกราบนมัสการท่านบ่อยๆ หรือมีโอกาสได้ฟังท่านสนทนาธรรม ก็คงจะได้เห็นกุศโลบายในการสอนของท่านที่จะโน้มน้าวผู้ฟังให้วกเข้าสู่การ ปรับปรุงแก้ไขตนเอง เช่น ครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์วิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้ให้ท่านฟังในเชิงว่ากล่าวว่า เป็นต้นเหตุของปัญหาและความยุ่งยาก แทนที่ท่านจะเออออไปตามอันจะทำให้เรื่องยิ่งบานปลายออกไป ท่านกลับปรามว่า “เรื่องของคนอื่น เราไปแก้เขาไม่ได้ ที่แก้ได้คือตัวเรา แก้ข้างนอกเป็นเรื่องโลก แต่แก้ที่ตัวเรานี่เป็นเรื่องธรรม”

คำสอนของหลวงปู่ดู่จึงสรุปลงที่ การใช้ ชีวิตอย่างคนไม่ประมาท นั่นหมายถึงว่าสิ่งที่จะต้องเป็นไปพร้อมๆ กัน ก็คือ ความพากเพียรที่ลงสู่ภาคปฏิบัติในมรรควิถีที่เป็นสาระแห่งชีวิตของผู้ไม่ ประมาท ดังที่ท่านพูดย้ำเสมอว่า “หมั่นทำเข้าไว้ๆ” 


๏ อ่อนน้อมถ่อมตน

นอกจากความอดทนอดกลั้นยิ่งแล้ว หลวงปู่ดู่ยังเป็นแบบอย่างของผู้ไม่ถือตัว วางตัวเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เมื่อครั้งที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จันทสิริ) วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพฯ หรือที่เราเรียกกันว่า “ท่านเจ้าคุณเสงี่ยม” ซึ่งมีอายุพรรษามากกว่าหลวงปู่ดู่ ๑ พรรษา มานมัสการหลวงปู่ดู่โดยยกย่องเป็นครูเป็นอาจารย์ แต่เมื่อท่านเจ้าคุณเสงี่ยมกราบหลวงปู่เสร็จแล้ว หลวงปู่ท่านก็กราบตอบ เรียกว่าต่างองค์ต่างกราบซึ่งกันและกัน เป็นภาพที่พบเห็นได้ยากเหลือเกิน ในโลกที่ผู้คนทั้งหลายมีแต่จะเติบโตทางด้านทิฏฐิมานะ ความถือตัว อวดดี อวดเด่น ยกตนข่มท่าน ปล่อยให้กิเลสตัวหลงออกเรี่ยราด เที่ยวประกาศให้ผู้คนทั้งหลายได้รู้ว่าตนเก่ง โดยเจ้าตัวก็ไม่รู้ว่าถูกกิเลสขึ้นขี่คอพาบงการให้เป็นไป

หลวงปู่ดู่ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติธรรมของสำนักไหนๆ ในเชิงลบหลู่หรือเปรียบเทียบดูถูกดูหมิ่น ท่านว่า “คนดีน่ะเขาไม่ตีใคร” ซึ่งลูกศิษย์ทั้งหลายได้ถือเป็นแบบอย่าง

หลวงปู่ดู่เป็นพระพูดน้อย ไม่มากโวหาร ท่านจะพูดย้ำอยู่แต่ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมและความไม่ประมาท เช่น “ของดีอยู่ที่ตัวเรา หมั่นทำ (ปฏิบัติ) เข้าไว้” “ให้หมั่นดูจิต รักษาจิต” “อย่าลืมตัวตาย” และ “ให้หมั่นพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” เป็นต้น
 

๏ อุบายธรรม

หลวงปู่ดู่เป็นผู้ที่มีอุบายธรรมลึกซึ้ง สามารถขัดเกลาจิตใจคนอย่างค่อยเป็นค่อยไป มิได้เร่งรัดเอาผล เช่นครั้งหนึ่งมีนักเลงเหล้าติดตามเพื่อนซึ่งเป็นลูกศิษย์มากราบนมัสการท่าน สนทนากันได้สักพักหนึ่ง เพื่อนที่เป็นลูกศิษย์ก็ชักชวนเพื่อนนักเลงเหล้าให้สมาทานศีล ๕ พร้อมกับฝึกหัดปฏิบัติสมาธิภาวนา นักเลงเหล้าผู้นั้นก็แย้งว่า “จะมาให้ผมสมาทานศีลและปฏิบัติได้ยังไง ก็ผมยังกินเหล้าเมายาอยู่นี่ครับ” หลวงปู่ดู่ท่านก็ตอบว่า “เอ็งจะกินก็กินไปซิ ข้าไม่ว่า แต่ให้เอ็งปฏิบัติให้ข้าวันละ ๕ นาทีก็พอ” นักเลงเหล้าผู้นั้นเห็นว่านั่งสมาธิแค่วันละ ๕ นาที ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร จึงได้ตอบปากรับคำจากหลวงปู่

ด้วยความที่เป็นคนนิสัยทำอะไรทำจริง ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ทำให้เขาสามารถปฏิบัติได้สม่ำเสมอเรื่อยมามิได้ขาดแม้แต่วันเดียว บางครั้งถึงขนาดงดไปกินเหล้ากับเพื่อนๆ เพราะได้เวลาปฏิบัติ จิต ของเขาเริ่มเสพคุ้นกับความสุขสงบจากการที่จิตเป็นสมาธิ ไม่ช้าไม่นานเขาก็สามารถเลิกเหล้าได้โดยไม่รู้ตัวด้วยอุบายธรรมที่น้อมนำมา จากหลวงปู่ ต่อมาเขาได้มีโอกาสมานมัสการท่านอีกครั้ง ที่นี้หลวงปู่ดู่ท่านให้โอวาทว่า “ที่ แกปฏิบัติอยู่ ให้รู้ว่าไม่ใช่เพื่อข้า แต่เพื่อตัวแกเอง” คำพูดของหลวงปู่ทำให้เขาเข้าใจอะไรมากขึ้น ศรัทธาและความเพียรต่อการปฏิบัติก็มีมากขึ้นตามลำดับ ถัดจากนั้นไม่กี่ปี เขาผู้ที่อดีตเคยเป็นนักเลงเหล้าก็ละเพศฆราวาสเข้าสู่เพศบรรพชิตตั้งใจ ปฏิบัติธรรมเรื่อยมา

อีกครั้งหนึ่ง มีชาวบ้านหาปลามานมัสการท่าน และก่อนกลับท่านก็ให้เขาสมาทานศีล ๕ เขาเกิดตะขิดตะขวงใจกราบเรียนท่านว่า “ผมไม่กล้าสมาทานศีล ๕ เพราะรู้ว่าประเดี๋ยวก็ต้องไปจับปลา จับกุ้ง มันเป็นอาชีพของผมครับ” หลวงปู่ตอบเขาด้วยความเมตตาว่า “แก จะรู้เหรอว่า แกจะตายเมื่อไหร่ ไม่แน่ว่าแกเดินออกไปจากกุฏิข้าแล้ว อาจถูกงูกัดตายเสียกลางทางก่อนไปจับปลา จับกุ้ง ก็ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อตอนนี้แกยังไม่ได้ทำบาปกรรมอะไร ยังไงๆ ก็ให้มีศีลไว้ก่อน ถึงจะมีศีลขาดก็ยังดีกว่าไม่มีศีล”

หลวงปู่ดู่ท่านไม่เพียงพร่ำสอนให้บรรดาศิษย์ทั้งหลายเจริญบำเพ็ญคุณงามความดีเท่านั้น หากแต่ยังเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญและระมัดระวังในการรักษาไว้ซึ่งคุณงามความดีนั้นๆ ให้คงอยู่ รวมทั้งเจริญงอกงามขึ้นเรื่อยๆ ท่านมักจะพูดเตือนเสมอๆ ว่าเมื่อปลูกต้นธรรมด้วยดีแล้ว ก็ต้องคอยหมั่นระวังอย่าให้หนอนและแมลง ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ และความหลง มากัดกินทำลายต้นธรรมที่อุตส่าห์ปลูกขึ้น และอีกครั้งหนึ่งที่ท่านแสดงถึงแบบอย่างของความเป็นครูอาจารย์ที่ปราศจาก ทิฏฐิมานะและเปี่ยมด้วยอุบายธรรม ก็คือครั้งที่มีนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒ คน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่าน มากราบลาพร้อมกับเรียนให้ท่านทราบว่าจะเดินทางไปพักค้างเพื่อปฏิบัติธรรมกับ ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
 

หลวงปู่ดู่ท่านฟังแล้วก็ยกมือพนมขึ้นไหว้ไปทางข้างๆ พร้อมกับพูดว่า “ข้าโมทนากับพวกแกด้วย ตัวข้าไม่มีโอกาส...” ไม่มีเลยที่ท่านจะห้ามปรามหรือแสดงอาการที่เรียกว่าหวงลูกศิษย์ ตรงกันข้ามมีแต่จะส่งเสริมสนับสนุน ให้กำลังใจเพื่อให้ลูกศิษย์ของท่านขวนขวายในการปฏิบัติธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป

แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีลูกศิษย์มาเรียนให้ท่าน ทราบถึงครูอาจารย์นั้นองค์นี้ในลักษณะตื่นครูตื่นอาจารย์ ท่านก็จะปรามเพื่อวกเข้าสู่เจ้าตัว โดยพูดเตือนสติว่า “ครูอาจารย์ดีๆ แม้จะมีอยู่มาก แต่สำคัญที่ตัวแกต้องปฏิบัติให้จริง สอนตัวเองให้มากนั่นแหละจึงจะดี”

หลวงปู่ดู่ท่านมีแนวทางการสอนธรรมะที่เรียบ ง่าย ฟังง่ายชวนให้ติดตามฟัง ท่านนำเอาสิ่งที่เข้าใจยากมาแสดงให้เข้าใจง่าย เพราะท่านจะยกอุปมาอุปไมยประกอบในการสอนธรรมะ จึงทำให้ผู้ฟังเห็นภาพและเกิดความเข้าใจในธรรมที่ท่านนำมาแสดง แม้ว่าท่านมักจะออกตัวว่าท่านเป็นพระบ้านนอกที่ไม่มีความรู้อะไร แต่สำหรับบรรดาศิษย์ทั้งหลายคงไม่อาจปฏิเสธว่า หลายครั้งที่ท่านสามารถพูดแทงเข้าไปถึงก้นบึ้งหัวใจของผู้ฟังทีเดียว อีกประการหนึ่ง ด้วยความที่ท่านมีรูปร่าง ลักษณะที่เป็นที่น่าเคารพเลื่อมใส เมื่อใครได้มาพบเห็นท่านด้วยตนเอง และถ้ายิ่งได้สนทนาธรรมกับท่านโดยตรง ก็จะยิ่งเพิ่มความเคารพเลื่อมใสและศรัทธาในตัวท่านมากขึ้นเป็นทวีคูณ

หลวงปู่ดู่ท่านพูดถึงการประพฤติปฏิบัติของคนสมัยนี้ว่า “คน เราทุกวันนี้ โลกเท่าแผ่นดิน ธรรมเท่าปลายเข็ม เรามัวพากันยุ่งอยู่กับโลกจนเหมือนลิงติดตัง เรื่องของโลก เรื่องเละๆ เรื่องไม่มีที่สิ้นสุด เราไปแก้ไขเขาไม่ได้จะต้องแก้ไขที่ตัวเราเอง ตนของตนเตือนตนด้วยตนเอง” ท่านได้อบรมสั่งสอนศิษย์โดยให้พยายามถือเอาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเป็นครูสอนตนเองเสมอ เช่น ในหมู่คณะหากมีผู้ใดประพฤติปฏิบัติดี เจริญในธรรมปฏิบัติ ท่านก็กล่าวชมและให้ถือเป็นแบบอย่าง แต่ถ้ามีผู้ประพฤติผิด ถูกท่านตำหนิติเตียน ก็ให้น้อมเอาเหตุการณ์นั้นๆ มาสอนตนทุกครั้งไป ท่านไม่ได้ชมผู้ทำดีจนหลงลืมตน และท่านไม่ได้ติเตียนผู้ทำผิดจนหมดกำลังใจ แต่ถือเอาเหตุการณ์เป็นเสมือนครูที่เป็นความจริง แสดงเหตุผลให้เห็นธรรมที่แท้จริง

การสอนของหลวงปู่ดู่ ท่านก็พิจารณาดูบุคคลด้วย เช่น คนบางคนพูดให้ฟังเพียงอย่างเดียวไม่เข้าใจ บางทีท่านก็ต้องทำให้เกิดความกลัว เกิดความละอายบ้าง ถึงจะหยุด เลิก ละ การกระทำที่ไม่ดีนั้นๆ ได้ หรือบางคนเป็นผู้มีอุปนิสัยเบาบางอยู่แล้วท่านก็สอนธรรมดา การสอนธรรมะของท่าน บางทีก็สอนให้กล้า บางทีก็สอนให้กลัว ที่ ว่าสอนให้กล้านั้นคือ ให้กล้าในการทำความดี กล้าในการประพฤติปฏิบัติเพื่อถอดถอนกิเลสออกจากใจ ไม่ให้ตกเป็นทาสของกิเลสอยู่ร่ำไป ส่วนที่สอนให้กลัวนั้น ให้กลัวในการทำความชั่ว ผิดศีลธรรมเป็นโทษ ทำแล้วผู้อื่นเดือดร้อน บางทีท่านก็สอนให้เชื่อคือ ให้เชื่อมั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อในเรื่องกรรม อย่างที่ท่านเคยกล่าวว่า “เชื่อไหมล่ะ ถ้าเราเชื่อจริง ทำจริง มันก็เป็นของจริง ของจริงมีอยู่ แต่เรามันไม่เชื่อจริง จึงไม่เห็นของจริง”

หลวงปู่ดู่ท่านสอนให้มีปฏิปทาสม่ำเสมอ ท่านว่า “ขยันก็ให้ทำ ขี้เกียจก็ให้ทำ ถ้าวันไหนยังกินข้าวอยู่ก็ต้องทำ วันไหนเลิกกินข้าวแล้วนั่นแหละจึงค่อยเลิกทำ”

การสอนของท่านนั้นมิได้เน้นแต่เพียงการนั่งหลับตาภาวนา หากแต่หมายรวมไปถึงการกำหนดดู กำหนดรู้ และพิจารณาสิ่งต่างๆ ในความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านชี้ให้เห็นถึงสังขารร่างกายที่มันเกิดมันตายอยู่ตลอด เวลา ท่านว่าเราวันนี้กับเราเมื่อตอนเป็นเด็กมันก็ไม่เหมือนเก่า เราขณะนี้กับเราเมื่อวานก็ไม่เหมือนเก่า จึงว่าเราเมื่อตอนเป็นเด็กหรือเราเมื่อวานมันได้ตายไปแล้ว เรียกว่าร่างกายเรามันเกิด-ตาย อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก มันเกิด-ตาย อยู่ทุกขณะจิต ท่านสอนให้บรรดาศิษย์เห็นจริงถึงความสำคัญของความทุกข์ยากว่าเป็นสิ่งมีคุณ ค่าในโลก ท่านจึงพูดบ่อยครั้งว่า การที่เราประสบทุกข์นั่นแสดงว่าเรามาถูกทางแล้ว เพราะอาศัยทุกข์นั่นแหละ จึงทำให้เราเกิดปัญญาขึ้นได้ 


๏ ใช้ชีวิตอย่างผู้รักสันโดษและเรียบง่าย

หลวงปู่ดู่ท่านยังเป็นแบบอย่างของผู้มัก น้อยสันโดษ ใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่นิยมความหรูหราฟุ่มเฟือย แม้แต่การสรงน้ำ ท่านก็ยังไม่เคยใช้สบู่เลย แต่ก็น่าอัศจรรย์เมื่อได้ทราบจากพระอุปัฏฐาก (พระอธิการสมทบ โอฬาริโก) ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดสะแก ว่า ไม่พบว่าท่านมีกลิ่นตัว แม้ในห้องที่ท่านจำวัด

มีผู้ปวารณาตัวจะถวายเครื่องใช้และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับท่าน ซึ่งส่วนใหญ่ท่านจะปฏิเสธ คงรับไว้บ้างเท่าที่เห็นว่าไม่เกินเลยอันจะเสียสมณสารูป และใช้สอยพอให้ผู้ถวายได้เกิดความปลื้มปีติที่ได้ถวายแก่ท่าน ซึ่งในภายหลังท่านก็มักยกให้เป็นของสงฆ์ส่วนรวมเช่นเดียวกับข้าวของต่างๆ ที่มีผู้มาถวายเป็นสังฆทานโดยผ่านท่าน และเมื่อถึงเวลาเหมาะควร ท่านก็จะจัดสรรไปให้วัดต่างๆ ที่อยู่ในชนบทและยังขาดแคลนอยู่

สิ่งที่ท่านถือปฏิบัติสม่ำเสมอในเรื่องลาภสักการะ ก็คือ การ ยกให้เป็นของสงฆ์ส่วนรวม แม้ปัจจัยที่มีผู้ถวายให้กับท่านเป็นส่วนตัวสำหรับค่ารักษาพยาบาล ท่านก็สมทบเข้าในกองทุนสำหรับจัดสรรไปในกิจสาธารณประโยชน์ต่างๆ ทั้งโรงเรียนและโรงพยาบาล

หลวงปู่ดู่ท่านไม่มีอาการแห่งความเป็นผู้ อยากเด่นอยากดังแม้แต่น้อย ดังนั้น แม้ท่านจะเป็นเพียงพระบ้านนอกรูปหนึ่งซึ่งไม่เคยออกจากวัดไปไหน ทั้งไม่มีการศึกษาระดับสูงๆ ในทางโลก แต่ในความรู้สึกของลูกศิษย์ทั้งหลาย ท่านเป็นดั่งพระเถระผู้ถึงพร้อมด้วยจริยวัตรอันงดงาม สงบ เรียบง่าย เบิกบาน และถึงพร้อมด้วยธรรมวุฒิที่รู้ถ้วนทั่วในวิชชาอันจะนำพาให้พ้นเกิด พ้นแก่ พ้นเจ็บ พ้นตายถึงฝั่งอันเกษม เป็นที่ฝากเป็นฝากตายและฝากหัวใจของลูกศิษย์ทุกคน

ในเรื่องทรัพย์สมบัติดั้งเดิมของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นาซึ่งมีอยู่ประมาณ ๓๐ ไร่ ท่านก็ได้แบ่งให้กับหลานๆ ของท่าน ซึ่งในจำนวนนี้ นายยวง พึ่งกุศล ผู้เป็นบุตรของ นางสุ่ม พึ่งกุศล โยมพี่สาวคนกลางที่เคยเลี้ยงดูท่านมาตลอด ก็ได้รับส่วนแบ่งที่นาจากท่านด้วยจำนวน ๑๘ ไร่เศษ แต่ด้วยความที่นายยวงผู้เป็นหลานของท่านนี้ไม่มีทายาท ได้คิดปรึกษานางถมยา ผู้เป็นภรรยา เห็นควรยกให้เป็นสาธารณประโยชน์ จึงยกที่ดินแปลงนี้ให้กับโรงเรียนวัดสะแก ซึ่งหลวงปู่ดู่ท่านก็อนุโมทนาในกุศลเจตนาของคนทั้งสอง 


๏ กุศโลบายในการสร้างพระ

หลวงปู่ดู่ท่านมิได้ตั้งตัวเป็นเกจิอาจารย์ การที่ท่านสร้างหรืออนุญาตให้สร้างพระเครื่องหรือพระบูชา ก็เพราะเห็นประโยชน์เพราะบุคคลจำนวนมากยังขาดที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ท่านมิได้จำกัดศิษย์อยู่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น คณะศิษย์ของท่านจึงมีกว้างขวางออกไป ทั้งที่ใฝ่ใจธรรมล้วนๆ หรือที่ยังต้องอิงกับวัตถุมงคล ท่านเคยพูดว่า “ติดวัตถุมงคลก็ยังดีกว่าที่จะให้ไปติดวัตถุอัปมงคล” ทั้งนี้ ท่านย่อมใช้ดุลยพินิจพิจารณาตามความเหมาะควรแก่ผู้ที่ไปหาท่าน

แม้ว่าหลวงปู่ดู่จะรับรองในความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องที่ท่านอธิษฐานจิตให้ แต่สิ่งที่ท่านยกไว้เหนือกว่านั้นก็คือ การปฏิบัติ ดังจะเห็นได้จากคำพูดของท่านว่า “เอาของจริงดีกว่า พุทธังฯ ธัมมังฯ สังฆังฯ สรณัง คัจฉามิ นี่แหละของแท้” จากคำพูดนี้จึงเสมือนเป็นการยืนยันว่า การ ปฏิบัติภาวนานี้แหละเป็นที่สุดแห่งเครื่องรางของขลัง เพราะคนบางคนแม้แขวนพระที่ผู้ทรงคุณวิเศษอธิษฐานจิตให้ก็ตาม ก็ใช่ว่าจะรอดปลอดภัยอยู่ดีมีสุขไปทุกกรณี อย่างไรเสียทุกคนไม่อาจหลีกหนีวิบากกรรมที่ตนได้สร้างไว้ ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็คือ กรรม”

ดังนั้น จึงมีแต่ พระ “สติ” พระ “ปัญญา” ที่ฝึกฝนอบรมมาดีแล้วเท่านั้น ที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติรู้เท่าทัน และพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาและสิ่งกระทบต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตอย่างไม่ทุกข์ใจ ดุจว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเสมือนฤดูกาลที่ผ่านเข้ามาในชีวิต บางครั้งร้อน บางครั้งหนาว ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นไปตามธรรมดาของโลก

พระเครื่องหรือพระบูชาต่างๆ ที่ท่านอธิษฐานปลุกเสกให้แล้วนั้น ปรากฏผลแก่ผู้บูชาในด้านต่างๆ เช่น แคล้วคลาด เป็นต้น นั่นก็เป็นเพียงผลพลอยได้ซึ่งเป็นประโยชน์ทางโลกๆ แต่ประโยชน์ที่ท่านสร้างมุ่งหวังอย่างแท้จริงนั้น ก็คือ ใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติภาวนา มีพุทธานุสติกรรมฐาน เป็นต้น นอกจากนี้แล้วผู้ปฏิบัติยังได้อาศัยพลังจิตที่ท่านตั้งใจบรรจุไว้ในพระ เครื่องช่วยน้อมนำและประคับประคองให้จิตรวมสงบได้เร็วขึ้น ตลอดถึงการใช้เป็นเครื่องเสริมกำลังใจและระงับความหวาดวิตกในขณะปฏิบัติ ถือเป็นประโยชน์ทางธรรมซึ่งก่อให้เกิดพัฒนาการทางจิตของผู้ใช้ไปสู่การพึ่ง พาตนเองได้ในที่สุด

จากที่เบื้องต้นเราได้อาศัย พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ และสังฆัง สรณัง คัจฉามิ คือยึดเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ จนจิตของเราเกิดศรัทธาโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เราเรียกกันว่า ตถาคต โพธิสัทธา คือเชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าขึ้นแล้ว เราก็ย่อมเกิดกำลังใจขึ้นว่าพระพุทธองค์เดิมก็เป็นคนธรรมดาเช่นเดียวกับเรา ความผิดพลาดพระองค์ก็เคยทรงทำมาก่อน แต่ด้วยความเพียรประกอบกับพระสติปัญญาที่ทรงอบรมมาดีแล้ว จึงสามารถก้าวข้ามวัฏฏะ

สงสารสู่ความหลุดพ้น เป็นการบุกเบิกทางที่เคยรกชัฏให้พวกเราได้เดินกัน ดังนั้น เราซึ่งเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับพระองค์ ก็ย่อมที่จะมีศักยภาพที่จะฝึกฝนอบรมกาย วาจา ใจ ด้วยตัวเราเองได้เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงกระทำมา พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กาย วาจา ใจ เป็นสิ่งที่ฝึกฝนอบรมกันได้ ใช่ว่าจะต้องปล่อยให้ไหลไปตามยถากรรม

เมื่อจิตเราเกิดศรัทธาดังที่กล่าวมานี้แล้ว ก็มีการน้อมนำเอาข้อธรรมคำสอนต่างๆ มาประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลสออกจากใจตน จิตใจของเราก็จะเลื่อนชั้นจากปุถุชนที่หนาแน่นด้วยกิเลส ขึ้นสู่กัลยาณชนและอริยชน เป็นลำดับ เมื่อเป็นดังนี้แล้วในที่สุดเราก็ย่อมเข้าถึงที่พึ่งคือตัวเราเอง อันเป็นที่พึ่งที่แท้จริงเพราะกาย วาจา ใจ ที่ได้ผ่านขั้นตอนการฝึกฝนอบรมโดยการเจริญศีล สมาธิ และปัญญาแล้ว ย่อมกลายเป็น กายสุจริต วาจาสุจริต และมโนสุจริต กระทำสิ่งใด พูดสิ่งใด คิดสิ่งใด ก็ย่อมหาโทษมิได้ ถึงเวลานั้นแม้พระเครื่องไม่มี ก็ไม่อาจทำให้เราเกิดความหวั่นไหว หวาดกลัว ขึ้นได้เลย
 


๏ เปี่ยมด้วยเมตตา

นึกถึงสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ทรงประชวรหนักครั้งสุดท้ายแห่งการปรินิพพาน ท่านพระอานนท์ผู้อุปัฏฐากพระองค์อยู่ตลอดเวลา ได้ห้ามมานพผู้หนึ่งซึ่งขอร้องจะขอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าขณะนั้น

พระอานนท์คัดค้านอย่างเด็ดขาดไม่ให้เข้าเฝ้า แม้มานพขอร้องถึง ๓ ครั้ง ท่านก็ไม่ยอมจนกระทั่งเสียงขอกับเสียงขัดดังถึงพระพุทธองค์ พระ พุทธองค์จึงตรัสว่า “อานนท์ อย่าห้ามมานพนั้นเลย จงให้เข้ามาเดี๋ยวนี้” เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว มานพก็เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจนบรรลุมรรคผลแล้วขอบวชเป็นพระสาวกองค์สุดท้ายมีนามว่า “พระสุภัททะ”

พระอานนท์ท่านทำหน้าที่ของท่านถูกต้องแล้ว ไม่มีความผิดอันใดเลยแม้แต่น้อย ส่วนที่พระพุทธเจ้าให้เข้าเฝ้านั้นเป็นส่วนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ ทรงมีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายโดยไม่มีประมาณ ย่อมแผ่ไพศาลไปทั่วทั้งสามโลก พระสาวกรุ่นหลังกระทั่งถึงพระเถระหรือครูบาอาจารย์ผู้สูงอายุโดยทั่วไปที่มี เมตตาสูง รวมทั้งหลวงปู่ดู่ ย่อมเป็นที่เคารพนับถือของชนหมู่มาก ท่านก็อุทิศชีวิตเพื่อกิจพระศาสนา ก็ไม่ค่อยคำนึงถึงความชราอาพาธของท่าน เห็นว่าผู้ใดได้ประโยชน์จากการบูชาสักการะท่าน ท่านก็อำนวยประโยชน์นั้นแก่เขา

เมื่อครั้งที่หลวงปู่อาพาธอยู่ ได้มีลูกศิษย์กราบเรียนท่านว่า “รู้สึกเป็นห่วงหลวงปู่” ท่านได้ตอบศิษย์ผู้นั้นด้วยความเมตตาว่า “ห่วงตัวแกเองเถอะ” อีกครั้งที่ผู้เขียนเคยกราบเรียนหลวงปู่ว่า “ขอให้หลวงปู่พักผ่อนมากๆ” หลวงปู่ตอบทันทีว่า “พัก ไม่ได้ มีคนเขามากันมาก บางทีกลางคืนเขาก็มากัน เราเหมือนนกตัวนำ เราเป็นครูเขานี่ ครู...เขาตีระฆังได้เวลาสอนแล้วก็ต้องสอน ไม่สอนได้ยังไง”

ชีวิตของท่านเกิดมาเพื่อเกื้อกูลธรรมแก่ผู้อื่น แม้จะอ่อนเพลียเมื่อยล้าสักเพียงใดท่านก็ไม่แสดงออกให้ใครต้องรู้สึกวิตก กังวลหรือลำบากใจแต่อย่างใดเลย เพราะอาศัยความเมตตาเป็นที่ตั้ง จึงอาจกล่าวได้ว่าปฏิปทาของท่านเป็นดั่งพระโพธิสัตว์หรือหน่อพุทธภูมิ ซึ่งเห็นประโยชน์ของผู้อื่นมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ดังเช่นพระโพธิสัตว์หรือหน่อพุทธภูมิอีกท่านหนึ่งคือ “หลวง ปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” พระสุปฏิปันโนสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหลวงปู่ดู่ได้สอนให้ลูกศิษย์ให้ความเคารพเสมือนครูอาจารย์ผู้ชี้แนะแนว ทางการปฏิบัติอีกท่านหนึ่ง 


หลวงปู่ดู่ท่านได้ตัดสินใจไม่รับกิจนิมนต์ออกนอกวัดตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ดังนั้น ทุกคนที่ตั้งใจไปกราบนมัสการและฟังธรรมจากท่านจะไม่ผิดหวังเลยว่าจะไม่ได้พบ ท่าน ท่านจะนั่งรับแขกบนพื้นไม้กระดานแข็งๆ หน้ากุฏิของท่านทุกวัน ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ บางวันที่ท่านอ่อนเพลีย ท่านจะเอนกายพักผ่อนหน้ากุฏิ แล้วหาอุบายสอนเด็กวัดโดยให้เอาหนังสือธรรมะมาอ่านให้ท่านฟังไปด้วย

ข้อวัตรของท่านอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ การฉันอาหารมื้อเดียว ซึ่งท่านกระทำมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๐ แต่ภายหลังคือ ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เหล่าสานุศิษย์ได้กราบนิมนต์ให้ท่านฉัน ๒ มื้อ เนื่องจากความชราภาพของท่านประกอบกับต้องรับแขกมากขึ้น ท่านจึงได้ผ่อนปรนตามความเหมาะควรแห่งอัตภาพ ทั้งจะได้เป็นการโปรดญาติโยมจากที่ไกลๆ ที่ตั้งใจมาทำบุญถวายภัตตาหารแด่ท่าน

หลวงปู่แม้จะชราภาพมากแล้ว ท่านก็ยังอุตส่าห์นั่งรับแขกที่มาจากทิศต่างๆ วันแล้ววันเล่า ศิษย์ทุกคนก็ตั้งใจมาเพื่อกราบนมัสการท่าน บางคนก็มาเพราะมีปัญหาหนักอกหนักใจแก้ไขด้วยตนเองไม่ได้ จึงมุ่งหน้ามาเพื่อกราบเรียนถามปัญหาเพื่อให้คลายความทุกข์ใจ บางคนมาหาท่านเพื่อต้องการของดี เช่น เครื่องรางของขลัง ซึ่งก็มักได้รับคำตอบจากท่านว่า “ของดีนั้นอยู่ที่ตัวเรา พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นี่แหละของดี”

บางคนมาหาท่านเพราะได้ยินข่าวเล่าลือถึงคุณความดีศีลาจาริยวัตรของท่านใน ด้านต่างๆ บางคนมาหาท่านเพื่อขอหวยหวังรวยทางลัดโดยไม่อยากทำงาน แต่อยากได้เงินมากๆ

บางคนเจ็บไข้ไม่สบายก็มาเพื่อให้ท่านรดน้ำมนต์ เป่าหัวให้ มาขอดอกบัวบูชาพระของท่านเพื่อนำไปต้มดื่มให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นานา สารพันปัญหา แล้วแต่ใครจะนำมาเพื่อหวังให้ท่านช่วยตน บางคนไม่เคยเห็นท่านก็อยากมาดูว่าท่านมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร บ้างแค่มาเห็นก็เกิดปีติ สบายอกสบายใจ จนลืมคำถามหรือหมดคำถามไปเลย หลายคนเสียสละเวลา เสียค่าใช้จ่ายเดินทางไกลมาเพื่อพบท่าน ด้วยเหตุนี้ท่านจึงอุตส่าห์นั่งรับแขกอยู่ตลอดวัน โดยไม่ได้พักผ่อนเลย และไม่เว้นแม้ยามป่วยไข้ แม้นายแพทย์ผู้ให้การดูแลท่านอยู่ประจำจะขอร้องท่านอย่างไร ท่านก็ไม่ยอมตามด้วยเมตตาสงสาร และต้องการให้กำลังใจแก่ญาติโยมทุกคนที่มาพบท่าน
 

๏ ท่านเป็นดุจพ่อ

หลวงปู่ดู่ท่านเป็นดุจพ่อของลูกศิษย์ทุกๆ คน เหมือนอย่างที่พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น เรียกหลวงปู่มั่นว่า “พ่อแม่ครูอาจารย์” ซึ่งถือเป็นคำยกย่องอย่างสูง เพื่อให้สมฐานะอันเป็นที่รวมแห่งความเป็นกัลยาณมิตร

หลวงปู่ดู่ท่านให้การต้อรับแขกอย่างเสมอหน้ากันหมด ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ท่านจะพูดห้ามปรามหากมีผู้มาเสนอตัวเป็นนายหน้าคอยจัดแจงเกี่ยวกับแขกที่ เข้ามานมัสการท่าน ถึงแม้จะด้วยเจตนาดีอันเกิดจากความห่วงใยในสุขภาพของท่านก็ตาม เพราะท่านทราบดีว่ามีผู้ใฝ่ธรรมจำนวนมากที่อุตส่าห์เดินทางมาไกลเพื่อ นมัสการและซักถามข้อธรรมจากท่าน หากมาถึงแล้วยังไม่สามารถเข้าพบท่านได้โดยสะดวกก็จะทำให้เสียกำลังใจ

นี้เป็นเมตตาธรรมอย่างสูงซึ่งนับเป็นโชคดีของบรรดาศิษย์ทั้งหลาย ไม่ว่าใกล้หรือไกลที่สามารถมีโอกาสเข้ากราบนมัสการท่านได้โดยสะดวก หากมีผู้สนใจการปฏิบัติกรรมฐานมาหาท่าน ท่านจะเมตตาสนทนาธรรมเป็นพิเศษอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย บางครั้งหลวงปู่ก็มิได้กล่าวอะไรมาก เพียงการทักทายศิษย์ด้วยถ้อยคำสั้นๆ เช่น “เอ้า.....กินน้ำชาสิ” หรือ “ว่าไง.....” ฯลฯ เท่านี้ก็เพียงพอที่ยังปีติให้เกิดขึ้นกับศิษย์ผู้นั้นเหมือนดังหยาดน้ำ ทิพย์ชโลมให้เย็นฉ่ำ เกิดความสดชื่นตลอดร่างกายจน.....ถึงจิต.....ถึงใจ

หลวงปู่ดู่ท่านให้ความเคารพในองค์ “หลวงปู่ทวด” อย่างมาก ทั้งกล่าวยกย่องในความที่เป็นผู้ที่มีบารมีธรรมเต็มเปี่ยม ตลอดถึงการที่จะได้มาตรัสรู้ธรรมในอนาคต ให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายยึดมั่นและหมั่นระลึกถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อติดขัดในระหว่างการปฏิบัติธรรม หรือแม้แต่ประสบปัญหาในทางโลกๆ ท่านว่าหลวงปู่ทวดท่านคอยจะช่วยเหลือทุกคนอยู่แล้ว แต่ขอให้ทุกคนอย่าได้ท้อถอยหรือละทิ้งการปฏิบัติ 


๏ หลวงปู่ดู่กับครูอาจารย์ท่านอื่น

ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๓๒ ได้มีพระเถระและครูบาอาจารย์หลายท่านเดินทางมาเยี่ยมเยียนหลวงปู่ดู่ เช่น หลวงปู่บุดดา ถาวโร วัดกลางชูศรีเจริญสุข จังหวัดสิงห์บุรี ท่านเป็นพระเถระซึ่งมีอายุย่างเข้า ๙๖ ปี ก็ยังเมตตามาเยี่ยมหลวงปู่ดู่ที่วัดสะแกถึง ๒ ครั้ง และบรรยากาศของการพบกันของท่านทั้งสองนี้ เป็นที่ประทับใจผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์อย่างยิ่ง เพราะต่างองค์ต่างอ่อนน้อมถ่อมตน ปราศจากการแสดงออกซึ่งทิฏฐิมานะใดๆ เลย แป้งเสกที่หลวงปู่บุดดาเมตตามอบให้หลวงปู่ดู่ ท่านก็เอามาทาที่ศีรษะเพื่อแสดงถึงความเคารพอย่างสูง

พระเถระอีกท่านหนึ่งซึ่งได้เดินทางมาเยี่ยมหลวงปู่ดู่ค่อนข้างบ่อยครั้ง คือ หลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก จังหวัดพิจิตร ท่านมีความห่วงใยในสุขภาพของหลวงปู่ดู่อย่างมาก โดยได้สั่งให้ลูกศิษย์จัดทำป้ายกำหนดเวลารับแขกในแต่ละวันของหลวงปู่ดู่ เพื่อเป็นการถนอมธาตุขันธ์ของหลวงปู่ให้อยู่ได้นานๆ แต่อย่างไรก็ดีไม่ช้าไม่นานหลวงปู่ดู่ท่านก็ให้นำป้ายออกไป เพราะเหตุแห่งความเมตตาที่ท่านมีต่อผู้คนทั้งหลาย

ในระยะเวลาเดียวกันนั้น ครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร วัดพระธาตุดอนเรือง ประเทศพม่า ท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่โง่น โสรโย ก็ได้เดินทางมากราบนมัสการหลวงปู่ดู่ ๒ ครั้งโดยท่านได้เล่าให้ฟังภายหลังว่า

อาตมา “พระบุญชุ่ม ญาณสังวโร” จำพรรษาอยู่ที่วัดพระธาตุดอนเรือง เมืองพง รัฐเชียงตุง เขตพม่า ในพรรษาที่ ๒ อาตมาได้นิมิตเห็นหลวงปู่แก่เฒ่าองค์หนึ่งอายุประมาณ ๘๐-๙๐ ปี มาเทศน์ให้ฟัง ตอนที่อาตมาได้เข้ากรรมปฏิบัติไม่พูด ๗ วัน ท่านเทศน์สอนเรื่องการปฏิบัติให้มีสติและให้อยู่สันโดษ มีขันติ เมตตา และความเพียร ให้ถึงความพ้นทุกข์ ให้ดับเสียสิ้นชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ให้ถึงซึ่งพระนิพพานเป็นที่สุด ท่านเทศน์เป็นภาษาบาลี และแปลเป็นภาษาไทยให้ฟังอย่างชัดเจน แล้วท่านก็เทศน์สอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท และเทศน์ให้ฟังอีกหลายอย่าง อาตมารู้สึกปีติและอิ่มเอิบในรสพระธรรมของท่าน อาตมาจึงนึกถึงหลวงปู่องค์นั้นเสมอว่าท่านนั้นเป็นใคร และยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า ได้แต่กราบขอพรท่านตลอดทุกวัน

ต่อมาไม่นาน หลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ท่านเป็นอาจารย์องค์สุดท้ายของอาตมา ที่ท่านได้ส่งตัวอาตมาไปทำความเพียรที่ภูเขาหิมาลัย ประเทศเนปาล แล้วท่านก็ไปรับกลับมาบวชพระที่เชียงใหม่ และอาตมาก็มาจำพรรษาที่พม่า พอดีอาตมามาทำบุญคล้ายวันเกิด เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๓๑ อาตมาได้อาราธนานิมนต์หลวงปู่โง่นได้โปรดเมตตามารับเครื่องไทยทานในวันที่ ๔ หลวงปู่โง่นค้างคืนที่วัดพระธาตุดอนเรือง ท่านได้เอ่ยถึง
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า เป็นพระที่มีเมตตาองค์หนึ่งในพระนครศรีอยุธยา ได้เป็นพระอริยบุคคลองค์หนึ่ง อาตมาได้ยินก็อิ่มเอิบปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง อยากจะไปกราบไหว้บูชาพระองค์นั้น

พอดีอาตมาได้ไปทำบุญวันคล้ายวันเกิดหลวงปู่โง่น พอเสร็จก็ขออนุญาตหลวงปู่โง่นเพื่อไปกราบหลวงปู่ดู่ หลวงปู่โง่นก็อนุญาต และเขียนจดหมายกำกับไปด้วย พอไปถึงวัดสะแกก็เข้าไปกราบหลวงปู่ดู่ ท่านกำลังนั่งรับแขกอยู่ที่กุฏิไม้ พอได้เห็นหลวงปู่ดู่ก็นึกขึ้นได้ เหมือนในนิมิตตอนเข้ากรรม (หลวงปู่เฒ่าองค์นั้นก็คือหลวงปู่ดู่นั่นเอง) เกิดรู้สึกเหมือนดังพ่อลูกที่จากกันไปนานๆ จึงก้มกราบขอพรท่าน ท่านก็ให้พรแล้วยังถวายผ้าไตรกับพระพุทธรูป ๒ องค์ รูปเหมือนหลวงปู่ทวด ๑ องค์แก่อาตมา และอาตมาก็ถวายน้ำผึ้งและยา ท่านยิ้มแย้มมีเมตตาที่สุด อาตมาเอาพระบรมสารีริกธาตุน้อมถวายหลวงปู่ดู่ ท่านพูดว่า “เราเพิ่งพูดเรื่องพระธาตุเมื่อตะกี้ บัดนี้ท่านเอาพระธาตุมาถวายเป็นนิมิตหมายมงคลยิ่ง” หลวงปู่ก็ให้พรด้วยใบหน้าที่อิ่มเอิบ อาตมาได้เอาพระธาตุอีกส่วนหนึ่งและลูกประคำให้หลวงปู่ปลุกเสกอธิษฐานจิต ท่านมีลูกศิษย์หนุ่มคนหนึ่งอายุประมาณ ๒๖ หลวงปู่ถามลูกศิษย์ว่า “สว่างไหม เห็นชัดไหม มองไปให้ลึกๆ” ลูกศิษย์ก็ตอบว่า “เห็นแล้ว สว่างแล้ว” หลวงปู่จึงปลุกเสก หลับตาอธิษฐานพระธาตุและลูกประคำ แล้วท่านก็บอกว่า “พระธาตุนี้ไปอยู่มาหลายแห่งแล้ว เคยอยู่ที่พระธาตุนครปฐม และพระธาตุนครพนม” หลวงปู่ท่านสั่งให้เก็บรักษาและบูชาให้ดี อาตมาจึงกราบนมัสการลาหลวงปู่กลับวัดพระธาตุดอนเรือง อาตมาระลึกถึงบูชาพระคุณหลวงปู่อยู่มิได้ขาด

ต่อมาไม่นาน อาตมาก็ได้ไปกราบหลวงปู่อีกครั้ง หลวงปู่ท่านก็แนะนำสั่งสอนให้เร่งความเพียร หลวงปู่คงอยู่ไม่นาน อาตมาก็กลับวัดมาปฏิบัติธรรมตามคำสอนของหลวงปู่ด้วยความอุตสาหะ ยังนึกอยู่ในใจว่า ถ้ามีโอกาสตั้งใจจะกลับไปวัดสะแกอีกเพื่อไปอุปัฏฐากหลวงปู่ดู่ อยู่อีกไม่นาน อาตมาก็ได้ยินข่าวว่าหลวงปู่ท่านละสังขารเสียแล้ว เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง อาตมารู้สึก สังเวชและเสียดายหลวงปู่อย่างมาก ที่ท่านมีเมตตาอบรมสั่งสอนอาตมาซึ่งชีวิตนี้หาไม่ได้อีกแล้ว จึงนึกถึงมรณสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ปลงเข้าไปในไตรลักษณ์เป็นกฎธรรมชาติ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อาตมาจึงอธิษฐานตั้งใจปฏิบัติธรรมตามคำสอนของหลวงปู่ทุกอย่าง ให้ถึงความพ้นทุกข์พระนิพพานเป็นที่สุด

ครูบาบุญชุ่มยังได้เล่าว่า ท่านได้เขียนบันทึกความรู้สึกในใจของท่านไว้ใน หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ตอนหนึ่งว่า “..... หลวงปู่ท่านมรณภาพสิ้นไป เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ที่ให้ความสว่างส่องแจ้งในโลกดับไป อุปมาเหมือนดังดวงประทีปที่ให้ความสว่างไสวแก่ลูกศิษย์ได้ดับไป ถึงแม้พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้มรณะไปแล้ว แต่บุญญาบารมีที่ท่านแผ่เมตตา และรอยยิ้มอันอิ่มเอิบยังปรากฏฝังอยู่ในดวงใจอาตมา มิอาจลืมได้ ถ้าหลวงปู่มีญาณรับทราบ และแผ่เมตตาลูกศิษย์ลูกหาทุกคน ขอให้พระเดชพระคุณหลวงปู่เข้าสู่พระนิพพานเป็นอมตะแด่ท่านเทอญ อาตมาขอกราบคารวะพระเดชพระคุณหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ด้วยความเคารพสูงสุด.....”


นอกจากนี้ยังมีพระเถระอีกรูปหนึ่งที่ควรกล่าวถึง เพราะหลวงปู่ดู่ให้ความยกย่องมากในความเป็นผู้มีคุณธรรมสูง และเป็นแบบอย่างของผู้ที่มีความเคารพในพระรัตนตรัยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหลวงปู่ดู่ได้แนะนำสานุศิษย์ให้ถือท่านเป็นครูอาจารย์อีกท่านหนึ่งด้วย นั่นก็คือ หลวงพ่อเกษม เขมโก แห่งสุสานไตรลักษณ์ จังหวัดลำปาง 


๏ ปัจฉิมวาร

นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นมา สุขภาพของหลวงปู่เริ่มแสดงไตรลักษณะให้ปรากฏอย่างชัดเจน สังขารร่างกายของหลวงปู่ซึ่งก่อเกิดมาจากธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และมีใจครองเหมือนเราๆ ท่านๆ เมื่อสังขารผ่านมานานวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการใช้งานมากและพักผ่อนน้อย ความทรุดโทรมก็ย่อมเกิดเร็วขึ้นกว่าปรกติ กล่าวคือ สังขารร่างกายของท่านได้เจ็บป่วยอ่อนเพลียลงไปเป็นลำดับ ในขณะที่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งญาติโยมและบรรพชิตต่างก็หลั่งไหลกันมากราบ นมัสการท่านเพิ่มขึ้นทุกวัน ในท้ายที่สุดแห่งชีวิตของหลวงปู่ดู่ด้วยปณิธานที่ตั้งไว้ว่า “สู้แค่ตาย” ท่านใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างสูง แม้บางครั้งจะมีโรคมาเบียดเบียนอย่างหนัก ท่านก็อุตส่าห์ออกโปรดญาติโยมเป็นปรกติ พระอุปัฏฐากของหลวงปู่ (พระอธิการสมทบ โอฬาริโก) อดีตเจ้าอาวาสวัดสะแก ได้เล่าให้ฟังว่า บางครั้งถึงขนาดที่ท่านต้องพยุงตัวเองขึ้นด้วยอาการสั่นและมีน้ำตาคลอเบ้า ท่านก็ไม่เคยปริปากให้ใครต้องเป็นกังวลเลย ในปีท้ายๆ ท่านถูกตรวจพบว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว แม้นายแพทย์จะขอร้องให้ท่านเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล หลวงปู่ท่านก็ไม่ยอมไป ท่านเล่าให้ฟังว่า “แต่ก่อนเราเคยอยากดี เมื่อดีแล้วก็เอาให้หายอยาก อย่างมากก็สู้แค่ตาย ใครจะเหมือนข้า ข้าบนตัวตาย”

มีบางครั้งได้รับข่าวว่าท่านล้มขณะกำลังลุกเดินออกจากห้องเพื่อออกโปรดญาติ โยม คือประมาณ ๖ นาฬิกาอย่างที่เคยปฏิบัติอยู่ทุกวัน โดยปกติในยามที่สุขภาพแข็งแรงดี ท่านจะเข้าจำวัดประมาณสี่ห้าทุ่ม แต่กว่าจะจำวัดจริงๆ ประมาณเที่ยงคืนหรือตีหนึ่ง แล้วมาตื่นนอนตอนประมาณตีสาม มาช่วงหลังที่สุขภาพของท่านไม่แข็งแรง จึงตื่นตอนประมาณตีสี่ถึงตีห้า เสร็จกิจทำวัตรเช้าและกิจธุระส่วนตัวแล้วจึงออกโปรดญาติโยมที่หน้ากุฏิ

ประมาณปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๒ หลวงปู่ดู่พูดบ่อยครั้งในความหมายว่า ใกล้ถึงเวลาที่ท่านจะละสังขารนี้แล้ว ในช่วงท้ายของชีวิตท่าน ธรรมที่ถ่ายทอดยิ่งเด่นชัดขึ้น มิใช่ด้วยเทศนาธรรมของท่าน หากแต่เป็นการสอนด้วยการปฏิบัติให้ดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิปทาในเรื่องของความอดทน สมดังที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ว่า “ขันตี ปะระมัง ตโป ตีติกขา ความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง” แทบจะไม่มีใครเลยนอกจากโยมอุปัฏฐากใกล้ชิดที่ทราบว่า ที่ท่านนั่งรับแขกบนพื้นไม้กระดานแข็งๆ ทุกวันๆ ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เป็นระยะเวลานับสิบๆ ปีด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใส ใครทุกข์ใจมา ท่านก็แก้ไขให้ได้รับความสบายใจกลับไป แต่เบื้องหลังก็คือความลำบากทางธาตุขันธ์ของท่าน ที่ท่านไม่เคยปริปากบอกใคร กระทั่งวันหนึ่งโยมอุปัฏฐากได้รับการไหว้วานจากท่านให้เดินไปซื้อยาทาแผลให้ ท่าน จึงได้มีโอกาสขอดูและได้เห็นแผลที่ก้นท่าน ซึ่งมีลักษณะแตกซ้ำๆ ซากๆ ในบริเวณเดิม เป็นที่สลดใจจนไม่อาจกลั้นน้ำตาเอาไว้ได้
 

ท่านจึงเป็นครูที่เลิศสมดังพระพุทธโอวาทที่ว่า สอนเขาอย่างไรพึงปฏิบัติให้ได้อย่างนั้น ดังนั้น ธรรมในข้อ “อนัตตา” ซึ่งหลวงปู่ท่านยกไว้เป็นธรรมชั้นเอก ท่านก็ได้ปฏิบัติให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของศิษย์ทั้งหลายแล้วถึงข้อ ปฏิบัติต่อหลักอนัตตาไว้อย่างบริบูรณ์ จนแม้ความอาลัยอาวรณ์ในสังขารร่างกายที่จะมาหน่วงเหนี่ยว หรือสร้างความทุกข์ร้อนแก่จิตใจท่านก็มิได้ปรากฏให้เห็นเลย

ในตอนบ่ายของวันก่อนหน้าที่ท่านจะมรณภาพ ขณะที่ท่านกำลังเอนกายพักผ่อนอยู่นั้น ก็มี นายทหารอากาศผู้หนึ่ง มากราบนมัสการท่าน ซึ่งเป็นการมาครั้งแรก หลวงปู่ดู่ได้ลุกขึ้นนั่งต้อนรับด้วยใบหน้าที่สดใส ราศีเปล่งปลั่งเป็นพิเศษ กระทั่งบรรดาศิษย์ ณ ที่นั่นเห็นผิดสังเกต หลวงปู่แสดงอาการยินดีเหมือนรอคอยบุคคลผู้นี้มานาน ท่านว่า “ต่อไปนี้ข้าจะได้หายเจ็บหายไข้เสียที” ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าท่านกำลังโปรดลูกศิษย์คนสุดท้ายของท่าน หลวงปู่ดู่ท่านได้ย้ำในตอนท้ายว่า “ข้าขอฝากให้แกไปปฏิบัติต่อ”

ในคืนนั้นก็ได้มีคณะศิษย์มากราบนมัสการท่าน ซึ่งการมาในครั้งนี้ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนเช่นกันว่าจะเป็นการมาพบกับสังขาร ธรรมของท่านเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว หลวงปู่ดู่ได้เล่าให้ศิษย์คณะนี้ฟังด้วยสีหน้าปรกติว่า “ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดในร่างกายข้าที่ไม่เจ็บปวดเลย ถ้าเป็นคนอื่นคงเข้าห้องไอซียูไปนานแล้ว” พร้อมทั้งพูดหนักแน่นว่า “ข้าจะไปแล้วนะ” ท้ายที่สุดท่านก็เมตตากล่าวย้ำให้ทุกคนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท “ถึงอย่างไรก็ขออย่าได้ทิ้งการปฏิบัติ ก็เหมือนนักมวยขึ้นเวทีแล้วต้องชก อย่ามัวแต่ตั้งท่าเงอะๆ งะๆ” นี้ดุจเป็นปัจฉิมโอวาทแห่งผู้เป็นพระบรมครูของผู้เป็นศิษย์ทุกคนอันจะไม่สามารถลืมเลือนได้เลย

หลวงปู่ดู่ได้ละสังขารไปด้วยอาการอันสงบด้วยโรคหัวใจในกุฏิของท่าน เมื่อเวลาประมาณ ๕ นาฬิกาของวันพุธที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๓ สิริอายุรวมได้ ๘๕ ปี ๘ เดือน อายุพรรษา ๖๕ พรรษา สังขารธรรมของท่านได้ตั้งบำเพ็ญกุศลโดยมีเจ้าภาพสวดอภิธรรมเรื่อยมาทุกวันมิ ได้ขาด ตลอดระยะเวลา ๔๕๙ วัน จนกระทั่งได้รับพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ในวันเสาร์ที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๔

สำหรับ สรีระสังขารของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ปกติธรรมดาสำหรับคนทั่วๆ ไป ที่เมื่อหมดลมหายใจแล้วจะยังคงมีเนื้อหนังที่นิ่มหรือยืดหยุ่น การสังเกตดูสังขารของหลวงปู่หลังมรณภาพ ได้กระทำอย่างเป็นทางการประมาณ ๒ ครั้ง คือครั้งแรกเมื่อท่านมรณภาพไปได้ ๔๘ ชั่วโมง ซึ่งครั้งนั้นคุณหมอที่พระนครศรีอยุธยาเป็นผู้มาตรวจดู และเอ่ยว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่คนที่เสียชีวิตมานานถึง ๔๘ ชั่วโมง จะสามารถงอหรือพับข้อพับต่างๆ ได้ อีกทั้งไม่มีอาการที่เลือดตกหรือไปคั่งที่ด้านล่าง ถือเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาสำหรับคนทั่วไปจริงๆ

การสังเกตสังขารของหลวงปู่ครั้งที่ ๒ ได้กระทำก่อนวันพระราชทานเพลิงศพไม่นาน ซึ่งนั่นหมายความว่าหลวงปู่ละสังขารมาแล้วเกือบ ๑ ปี แต่ปรากฏว่าเนื้อที่บริเวณน่องของท่านก็ยังมีความนิ่มและยืดหยุ่นอยู่ จึงยังความประหลาดใจพร้อมๆ กับความปลื้มปีติแก่ศิษยานุศิษย์ผู้อยู่ในเหตุการณ์เป็นอย่างมาก บันทึกเล่าเรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยนี้ เพื่อให้ผู้ที่ไม่ทันสังขารของหลวงปู่จะได้พอกพูนศรัทธาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป


พระคุณเจ้าหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ได้อุปสมบทและแทบจะตลอดชีวิตของท่าน ท่านจำพรรษาอยู่แต่ที่วัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาโดยตลอดจนกระทั่งมรณภาพ ท่านมีอายุอยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๔๗ ถึง ๒๕๓๓ พระเถระที่ร่วมสมัยกับท่านได้แก่ลูกศิษย์ชั้นต้นของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เช่น หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่แหวน สุจิณโณ, หลวงปู่ฝั้น อาจาโจ และหลวงปู่สิม พุทธาจาโร เป็นต้น

การมรณภาพของหลวงปู่ยังความเศร้าโศกและอาลัยแก่ศิษยานุศิษย์และผู้เคารพรัก ท่านเป็นอย่างยิ่ง อุปมาดั่งดวงประทีปที่เคยให้ความสว่างไสวแก่ศิษยานุศิษย์ได้ดับไป แต่เมตตาธรรมและคำสั่งสอนของท่านจะยังปรากฏอยู่ในดวงใจของศิษยานุศิษย์และ ผู้ที่เคารพรักท่านตลอดไป บัดนี้ สิ่งที่คงอยู่มิใช่สังขารธรรมของท่าน หากแต่เป็นหลวงปู่ดู่องค์แท้ที่ศิษย์ทุกคนจะเข้าถึงท่านได้ด้วยการสร้างคุณ งามความดีให้เกิดให้มีขึ้นที่ตนเอง สมดังที่ท่านได้กล่าวไว้เป็นคติว่า “ตราบ ใดก็ตามที่แกยังไม่เห็นความดีในตัว ก็ยังไม่นับว่าแกรู้จักข้า แต่ถ้าเมื่อใด แกเริ่มเห็นความดีในตัวเองแล้ว เมื่อนั้น.....ข้าจึงว่าแกเริ่มรู้จักข้าดีขึ้นแล้ว”

ธรรมทั้งหลายที่ท่านได้พร่ำสอน ทุกวรรคตอนแห่งธรรมที่บรรดาศิษย์ได้น้อมนำมาปฏิบัตินั้น ก็คือการที่ท่านได้เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามบนดวงใจของศิษย์ทุกคน ซึ่งนับวันจะเติบใหญ่ผลิดอกออกผลเป็นสติและปัญญาบนลำต้นที่แข็งแรงคือ สมาธิ และบนพื้นดินที่มั่นคงแน่นหนาคือ ศีล สมดังเจตนารมณ์ที่ท่านได้ทุ่มเททั้งชีวิตด้วยเมตตาธรรมอันยิ่ง อันจักหาได้ยากทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต 


ขอขอบคุณบทความจาก:http://www.dhammajak.net 

วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556

วิธีการดูพระคำข้าว รุ่น 1 พระคำข้าว 2 หลวงพ่อพระราชพรหมยาน(ฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง


พระคำข้าว (พระมหาลาภ) เป็นพระเนื้อผงสีขาวปางมารวิชัย สร้างแบบพระพุทธชินราชในวิหารแก้ว 100 เมตรวัดท่าซุง มี ๒ รุ่น รุ่นที่ ๑ ปลุกเสกเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ องค์ รุ่นที่ ๒ สร้าง ๕,๐๐๐,๐๐๐ องค์ ปลุกเสก ๒ ครั้ง คือ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๓ และ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๔ 
ด้านหลังเป็นรูปหลวงพ่อ นั่งในกรอบรูปพัดยศ มีชื่อ พระราชพรหมยาน อยู่ตรงที่นั่ง

วิธีอาราธนา พระคำข้าว และ พระหางหมาก
คำอาราธนา ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหมด
รวมทั้ง เทวดาและพรหม ครูบาอาจารย์ทั้งหมด มีหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค อ.เสนา จ.อยุธยา เป็นที่สุด
แล้วตั้งนะโม ๓ จบ ปฎิบัติตามปกติว่า อิติปิโส ๑ จบ หลังจากนั้นให้อธิษฐานเอาตามความประสงค์ เมื่ออธิษฐานแล้ว
ปลุกด้วยคาถาปลุกพระของหลวงพ่อปานว่า
ขอ นำความรู้มาเผยแพร่เป็นวิทยาทานแก่พี่ๆๆน้องทุกท่าน และบุคคลที่สนใจเก็บวัตถุมงคลพระหลวงพ่อฤาษีฯวัดท่าซุง ไว้เป็นแนวทางการดูพระคำข้าว รุ่น 1 รุ่น 2 ว่าดูกันอย่างไร เผื่อโชคดีไปเจอราคาไม่แพง หรือมีคนให้มาจะได้รู้ว่าเป็นรุ่นไหนครับ  พี่ๆๆบางท่านอาจจะมีพระคำข้าวอยู่ แต่ไม่รู้ว่าเป็นรุ่นไหน  ดูได้ตามรูปข้างล่างเลยครับ
กร็ดความรู้บางอย่างที่หลวงพ่อฤาษีลิงดำวัดท่าซุงพูดถึงเกี่ยวกับพระคำข้าว
(คัดลอกจากหนังสือ ธรรมปฏิบัติ เล่ม ๙ โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน(ฤาษีลิงดำ) 
   


อันดับแรกที่เราจะทำอะไรทั้งหมด ตื่นขึ้นมาใหม่ ๆ นึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน นึกถึงด้วยความเคารพ เพื่อหวังพระนิพพานก็ตาม นึกถึงเพื่อขอลาภสักการะก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการนึกถึงพระพุทธเจ้าเหมือนกัน อันดับแรกนะ อย่างมี พระคำข้าว-
พระคำข้าวน่ะ หนักไปในทางลาภสักการะ อย่างอื่นก็มีหมด แต่ลาภน่ะหนักมาก และก็หยิบขึ้นมาพนมมือ
สาธุ ว่า นะโม ตัสสะ ใช่ไหม ว่านะโมตัสสะ ด้วยความเคารพ และอธิฐานว่า วันนี้ต้องการ...(ลาภอย่างไร)

     เป็นอันว่า เราอยากจะให้ค้าขายดี ทำราชการดี เมตตาปราณี อะไรก็ตามเถอะ ก็อย่าลืมว่าเวลานั้นเรานึกถึงพระพุทธเจ้า เราขอบารมีจากท่าน อย่างนี้ถือว่าเป็น ฌาน ในพุทธานุสติกรรมฐาน ถ้านึกถึงทุกวันน่ะ ถ้าถึงเวลาแล้วต้องทำอย่างนั้นทุกวัน ถ้าไม่ทำแล้วไม่สบายใจ นั่นเป็นฌานในพุทธานุสติ เป็นของง่าย ๆ เพราะวันนี้ท่านบอกให้พูดง่าย ๆ
ใช้วิธีง่าย ๆ นะ ก็ว่าตามท่าน 

...ที นี้เมื่อเมื่อบรรดาท่านพุทธบริษัท นึกถึงพระพุทธเจ้าแล้ว อย่าลืมพระที่ คอ นี่คือพระพุทธเจ้า อย่าง พระคำข้าว เป็นพระพุทธชินราช อย่าลืมน่ะ คือก็เหมือนกับพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งนั่นแหละ เป็นองค์แทนพระพุทธเจ้าท่าน และเวลาทำจริง ๆ พระพุทธเจ้าท่านก็มาทำ อันนี้ไม่ได้โฆษณานะ

**พูดให้ฟัง คือเวลาทำจริง ๆ พระพุทธเจ้าทุกองค์เสด็จมาหมด สมเด็จองค์ปฐมเป็นประธาน อยู่ข้างบนใช่ไหม และ สมเด็จองค์ปัจจุบันคุมฉัน ท่านปล่อยกระแสจิตพุ่งสว่างเป็นลำพุ่งมาที่ใจฉัน แล้วบอกเธอนั่งนิ่งๆ อย่าคิดถึงเรื่องอะไรทั้งหมด ห้ามดูอะไรทั้งหมด ให้ทรงอารมณ์เฉยๆ ๑๐ นาที ก็ทำตามท่าน แล้วท่านก็สั่งว่า ให้ว่าอิติปิโสฯ หลัง ๑๐ นาทีแล้ว ท่านบอกดูได้พุ่งใจไปที่ของได้ พอพุ่งใจไปที่ของ ที่เห็นเป็นลำ ไม่เห็นของที่ปลุกเลย แสงพระพุทธเจ้ากลบหมด หนามาก**
ขอขอบคุณที่มาจาก:เว็บทิม

หลวงพ่อฤาษีลิงดำ พูดถึงพระคำข้าว 



 



ศึกษาเหรียญท้าวเวสสุวัณ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง

บล็อคที่๑ บล็อคนี้ที่ขอบเหรียญด้านซ้ายใกล้เลข ๕ จะมีจุดอยู่นิดหนึ่ง บล็อคนี้แหละเป็นบล็อคแรก ตำหนิคงไม่ต้องบอกให้ละเอียดมากนัก จะตาลายกัน เอาดูแค่เป็นแนวทางให้โยงไปถึงบล็อคต่อ ๆ ไป ดีกว่า บล็อคนี้ด้านหน้าจะมีเส้นขนแมวบาง ๆ คล้ายสายฝน จากคำว่ามหาวีระ ทอดมายังศีระด้านขวาของหลวงพ่อ ตั้งแต่บล็อคแรกจมูกด้านขวาของหลวงพ่อ จะมีรอยอยู่ทุกเหรียญ ซึ่งจะน้อยลงไป เรื่อย ๆ ในบล็อคท้าย ๆ ตามลำดับ ที่นี้มาดูด้านหลังเหรียญกัน พื้นเหรียญด้านหลังจะมีตั้งแต่เรียบสวย พื้นผิวทรายเล็กน้อย และมากขึ้นมาตามลำดับ ซึ่งคงเกิดจากความหนาแน่นของเนื้อเหล็กไม่มากพอ เลยทำให้เกิดรอยพรุนคล้ายผิวทราย ซึ่งบางคนก็ชอบนะ แต่มาก ๆ เข้าลามไปถึงตัวอักขระด้านซ้าย เลยต้องหยุดซ่อมบล็อคกันที

บล็อคที่ ๒ ด้าน หน้าองค์หลวงพ่อแทบจะคงสภาพเดิมไว้ ปาดพื้นเหรียญออกเล็กน้อย ทำให้เส้นขนแมวขวามือเหนือศรีษะหลวงพ่อ และจุดเล็ก ตรงขอบเหรียญด้านซ้ายหายไป ส่วนตัวหนังสือรอบ ๆ เหรียญ แต่งใหม่ทั้งหมด ทำให้ดูหนาขึ้นกว่าเดิม บล็อคนี้มีตำหนิที่เกิดขึ้นใหม่ ตรงคำว่า ถาวโร ใต้ ถ. จะเป็นลักษณะคล้ายเนื้อนูน และมีเนื้อเกินจุดเล็ก ๆ บริเวณขอบศรีษะหลวงพ่อค่อนไปทางซ้าย ซึ่งตำหนิ ๒ แห่งนี้ จะมีอยู่ไปจนถึงบล็อคสุดท้าย
ส่วนด้านหลังเหรียญอย่างที่กล่าวมาแล้ว พื้นเหรียญเกิดเป็นผิวทราย จำนวนมาก ปาดพื้นเหรียญออกไป ส่วนองค์ท้าวเวสสุวัณ และอักขระยันต์ รอบ ๆ คงสภาพเดิมไว้ ไม่ได้ซ่อมแต่งใหม่ เลยทำให้ดูไม่ค่อยจะเรียบร้อยดีนัก การปาดเฉพาะพื้นเหรียญ แต่ไม่ได้แต่งที่องค์ท้าวเวสสุวัณ ตามลงไปด้วย ทำให้มีรอยขาดตรง อินธนู ไม่ได้ต่อลงมาติดกับบ่า ทั้ง ๒ ข้าง จะเรียกว่า อินธนูลอยก็ว่าได้ อักขระข้างซ้ายค่อนมาทางข้างล่างของท้าวเวสสุวัณ ยังมีรอยพรุนอยู่เพราะไม่ได้ซ่อมแต่งเลย บล็อคนี้ความสวยงามดูจะน้อยกว่าบล็อคอื่น แต่เหรียญเนื้อเงินที่ว่ากันว่าสร้างเพียง ๒๐ เหรียญ ก็ปั้มออกมาจากบล็อคนี้ ถ้าใครมีอยู่ก็ลองเทียบดู


บล็อคที่๓ ด้านหน้าแต่งใหม่หมด ทั้งตัวหนังสือซึ่งมีขนาดเล็กสวยงามคล้ายบล็อคแรก องค์หลวงพ่อแต่งลึกลงไป ทำให้รอยตรงจมูกด้านขวาชิดลงไปเกือบถึงโคนจมูก มีตำหนิเพิ่มขึ้นมาใหม่อีก ๒ แห่ง ตรงใต้คำว่า ษี จะมีเส้นขนแมวบาง ๆ ทอดมายังศรีษะด้านซ้ายของหลวงพ่อ และใต้จมูกมีจุดไข่ปลาเล็ก ด้านหลังเหรียญก็แต่งใหม่ทั้งหมด ทั้งองค์ท้าวเวสสุวัณและอักขระยันต์รอบ ๆ บล็อคนี้ ดูแล้วจะสวยงามเรียบร้อยที่สุด และมีอยู่จำนวนหนึ่งที่บล็อคเริ่มมีรอยแตกตรงหูเหรียญ ข้างเหรียญด้านขวา และด้านหลังของเหรียญ ซึ่งก็ดูมีเสน่ไปอีกแนบหนึ่ง เพราะเห็นเป็นตำหนิที่เด่นชัด แต่มาแตกหนักเข้าตรงระหว่างเลข ๕ กับ ก. บล็อคนี้เลยหยุดแค่นี้

บล็อคที่๔ บล็อคนี้คงเป็นบล็อคสุดท้ายแล้ว ที่องค์หลวงพ่อบล็อคนี้ดูจะแตกต่างจาก บล็อคอื่น ๆ เห็นได้ชัด ดูจากเม็ดตาทั้ง ๒ ข้าง ของหลวงพ่อจะเรียวเล็ก ไม่รีมนเหมือนบล็อคอื่น ๆ และขอบตาเหมือนจะไม่มีถุงใต้ตา เลยทำให้ดูขาดความนุ่มนวลไปบ้าง เส้นเกษาเป็นจุดเม็ดกลมเห็นได้ชัด ตัวหนังสือรอบเหรียญ แต่งได้ลึกดูเป็นเหลี่ยมเป็นแท่งดี ที่โดนเด่น คือ ด้านหลังเหรียญองค์ท้าวเวสสุวัณแต่งได้ลึกและคมชัดมาก ซึ่งด้านหลังเหรียญบล็อคนี้องค์ท้าวเวสสุวัณจะสวยชัดมากกว่าทุกพิมพ์ที่กล่าวมา

สรุปแล้วเหรียญหลวงพ่อหลังท้าวเวสสุวัณ คงจะมีแค่นี้ จะเท็จจริงประการใดก็เป็นเรื่องของการวิเคราะห์คาดเดา เพราะยอดธงเองก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย ซึ่งเวลาก็ผ่านมาร่วม ๓๐ ปี แล้ว ถ้ามีใครมีความรู้เรื่องนี้ หรือมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป ขอให้บอกกล่าวให้ทราบบ้าง เพื่อเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังต่อไป จาก เหตุการณ์ที่มีเหรียญเก่าเก็บ ออกมาให้เช่าบูชาเป็นจำนวนมากทุกท่านที่เข้าใจเรื่องนี้แล้ว คงวิเคราะห์ด้วยตัวเองได้ เนื่องจากบล็อคแม่พิมพ์ได้ถูกแต่งซ่อมมาจนถึงบล็อคสุดท้ายแล้ว เท่ากับเป็นการทำลายแม่พิมพ์ไปโดยตัวเอง จะเอาบล็อคที่ไหนไปปั้มเหรียญพิมพ์แรก ๆ ออกมาได้อีก แต่จะว่าไปก็เป็นการดีไปอย่าง ที่จะทำให้คนรุ่นหลังได้เช่าหากันได้ในราคาที่ไม่แพงเกินไปนัก ส่วนใครที่มีเก็บสะสมไว้บ้างแล้วก็ขอให้สบายใจได้เพราะเท่าที่ผ่านมา เหรียญรุ่นนี้ยังไม่มีของปลอมออกมาให้เห็น หรือว่าใครไปเจอมา ก็แบ่งให้กันดูบ้าง นะครับ

ขอขอบคุณบทความจากคุณยอดธง สิงห์อุทัย จากเว็บพลังจิต

ถามเกี่ยวกับพุทธคุณของพระเครื่อง



 หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ท่านเปรียบเอาไว้ว่า กำลังใจของคนที่เกาะพระ ถ้ากำลังใจเข้มแข็งสูงสุดท่านเปรียบว่าถ้าเป็นอาวุธปืนจะยิ่งไม่ออก โบราณเขาเรียกว่า มหาอุตม์ รองลงมาหน่อยหนึ่งยิงออกแต่ไม่ถูกจะเป็น แคล้วคลาด รองลงมาอีกหน่อยหนึ่งยิงถูกแต่ไม่เข้าเป็น คงกระพัน ยิง ถูกแต่ไม่เข้านี่เฮงซวยแล้วในความหมายของท่าน ลดลงไปอีกหน่อยหนึ่งยิงเข้าแต่ไม่ตาย ก็ถือว่าคุณเฮง โชคดีไป ที่แย่จริงๆ คือถ้าหากว่านึกถึงพระแล้วแต่กำลังใจมันแย่มากเลย ถึงตายก็ไปสวรรค์เพราะเกาะพระอยู่ เพราะฉะนั้นรีบๆ ไปสวรรค์ซะจะได้ไม่ลำบากนาน

ถาม : มีไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย ?


ตอบ : จ้ะ... แต่คราวนี้บางคนเขาไม่เข้าใจ เรื่องของพระเครื่องต่างๆ มันเป็นการตัดเคราะห์กรรมให้กับคนที่ตั้งใจอาราธนาบูชาอยู่ จากหนักก็เป็นเบา จากที่เบาก็เป็นหาย เพราะฉะนั้นบางคนว่า อ๊ะ! ทำไมว่าคนนั้นเอาไปใช้แล้วมีผลมากเลย นั่นของเขากรรมมันเบา แต่ขณะเดียวกันของเราเอาไปใช้โดนรถชนเสียเดี้ยงเลย เออ...คุณไม่ตายก็เฮงแล้วนะ บางคนจะไม่เข้าใจในจุดนี้ จากหนักจะเป็นเบา จากเบาเป็นหาย

ถาม : ถ้าคนที่ได้ไปเหมือนกัน ถ้าคนที่ศรัทธาเยอะ คนนั้นก็จะ ....?

ตอบ : จะได้ผลมากกว่า อย่างโบราณนี่กำลังใจเขาเข้มแข็งมาก เสด็จในกรมหลวงชุมพร รัชกาลที่ ๖ ถามท่านว่าไปเที่ยวสักเนื้อสักตัวร่ำเรียนวิชาอยู่ยงคงกระพันมานี่ตั้งใจจะก่อการกบฏหรือ ? พี่น้องกันเขาถามกันตรงๆ ลูก รัชกาลที่ ๕ เหมือนกัน ....ใช่ไหม ? เสด็จในกรมท่านบอกว่าท่านสามารถที่จะสาบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และครูบา อาจารย์ที่เคารพนับถือได้ว่าจิตใจที่คิดจะปรารถนาในราชบัลลังก์ไม่มีแม้แต่ นิดเดียว

ถ้าหากว่าท่านผิดจากคำพูดนี้ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่าได้คุ้มครองเลย เสร็จแล้วท่านก็ควักปืนยิงเข้าปากเหนี่ยวจนหมดโม่ไม่ลั่นสักนัดหนึ่ง เป็นเรา....เรากล้าอมปืนยิงตัวเองไหมล่ะ ? นั่นแหละ เพราะฉะนั้นกำลังมันต่างกันตรงนั้น ถ้ากำลังใจเข้มแข็งขนาดนั้นมันยิงไม่ออกหรอก ถ้ารองลงมาหน่อยก็ยิงออกไม่ถูก แย่ๆ ลงมายิงถูกแต่ไม่เข้า แหม... ปลื้มใจกันใหญ่ ที่ไหนได้กำลังใจห่วยแตก (หัวเราะ)

ถาม : แล้วที่อาจารย์ให้พระหางมากกับพวกพลอยนี่ ?

ตอบ : เอา พระหางหมาก เป็นหลักจ้ะพลอยนั้น จริงๆ ก่อนหน้านั้นที่ทำก็คือว่าบางคนนะที่มาที่นี่ไม่ใช่ศาสนาพุทธ คริสต์ก็มี อิสลามก็มี แล้วขณะเดียวกันพวกผู้หญิงเยอะ วัตถุมงคลบางอย่างทำในลักษณะของเครื่องประดับศาสนาอื่นเขาใช้ได้ลักษณะว่า ไม่ต้องไปตะขิดตะขวงใจ ไม่ต้องไปงัดข้อกับศาสนาตัวเอง อีกอย่างหนึ่งสิ่งที่สวยงามผู้หญิงเขาชอบอยู่แล้วติดตัวเป็นวัตถุมงคลด้วยก็ ยิ่งดี



สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนตุลาคม ๒๕๔๔
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ



ขอขอบคุณที่มา:เว็บพลังจิต

วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

ศึกษาพระกรุ ไม่ใช่เรื่องยาก !!!

พระกรุเป็นพระที่นับวันจะหายาก ขึ้นทุกวัน พระกรุส่วนใหญ่จะเป็นพระเนื้อชินและเนื้อดินส่วนน้อยจะเป็นชนิดอื่น เช่น โลหะสำริด ว่าน ฯลฯ พระกรุเนื้อชินแบ่งออกเป็นชนิดต่างๆ เช่น ชินเงิน ชินแก่ตะกั่ว ชินเขียว และชินตะกั่วสนิมแดง หลักการดูพระทุกประเภทนี้เหมือนกันหมด ก็คือ
1.พิมพ์พระ สำคัญ 50%
2.เนื้อพระ สำคัญ 25%
3.ความเก่าของพระ สำคัญ 25%
รวมกันเป็น 100% โดยการดูพระเนื้อชินเหมือนกันกับการดูพระหล่อโบราณของพระเกจิอาจารย์ต่างๆ
พิมพ์พระเนื้อชินจะมีตำหนิในพิมพ์เหมือนเหรียญหล่อเกจิอาจารย์ซึ่งเรา ต้องทราบว่าจุดไหนเป็นตำหนิในแม่พิมพ์พระ ไม่ใช่เป็นตำหนิขององค์พระซึ้งเกิดจากการเทพระ เช่น เนื้อเกิน รอยยุบ เทไม่ติดพิมพ์ เป็นต้น การดูตำหนิในแม่พิมพ์พระให้ดูจากพระแท้พิมพ์เดียวกันหลายๆ องค์ แล้วสังเกตุดูว่าจุดไหนที่ทุกองค์มีเหมือนกันหมดทุกองค์ถือเป็นตำหนิในแม่ พิมพ์เช่น พระหูยานลพบุรี พิมพ์ใหญ่หน้ายักษ์ จะมีเนื้อเกินบริเวณซอกแขนขวา และรอยฟันหนูในบริเวณซอกแขนซ้าย เป็นต้น.

 
พระเนื้อชินเงิน ส่วนผสมหลักจะเป็นตะกั่วผสมกับธาตุต่างๆ เช่น สังกะสี ดีบุก พลวง ปรอท ฯลฯ เพราะฉะนั้นเนื้อหาหลักจะมีสีคล้ายตะกั่ว แต่มีความแวววาวออกขาวคล้ายเงินหรือปรอทบริเวณผิวพระโดยเฉพาะองค์ที่ไม่ได้ ถูกสัมผัส เช่น พระกรุวัดราชบูรณะ พระกรุช่างกลปี 08 ลพบุรีเป็นต้น
พระเนื้อชินแก่ตะกั่ว ก็คือพระชินเงินที่มีส่วนผสมของตะกั่วมากนั้นเอง จะคล้ายกับตะกั่ว แต่จะมีผิวปรอทบางๆ อยู่บ้าง เนื้อพระจะอ่อนกว่าชินเงินทั่วไป เช่น พระชินราชใบเสมา พิษณุโลก, พระมเหศวร สุพรรณบุรี, พระกำแพงขาว กำแพงเพชร เป็นต้น 

 
พระชินเขียว "ชินเขียวสนิมไข" เป็นคำกล่าวโบราณของพระเนื้อชินเขียว ซึ่งมักจะมีไขคล้ายไข่แมงดาเกาะติดอยู่ตามผิวพระ เนื้อพระจะมีสีเขียวอ่อน และจะมีจุดไฝดำแทรกอยู่ในเนื้อพระทุกองค์เสมอ เช่น พระยอดอัฎฐารส จ.พิษณุโลกเป็นต้น 

 
พระตะกั่วสนิมแดง ก็คือเนื้อตะกั่วบริสุทธิ์นั่นเอง เมื่อพระเนื้อตะกั่วถูกความร้อนและความชื้นในกรุเป็นเวลาหลายร้อยปีจะเกิด สนิมตะกั่วทที่มีสีส้มถึงแดงขึ้นบริเวณผิวพระพร้อมกับไขขาวๆ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันของสนิมแต่ละกรุ เพื่อนๆ จะต้องศึกษาสนิมแต่ละกรุไว้นะครับ แนวทางดูธรรมธาติความเก่าของพระเนื้อชิน พระเนื้อชิน ถ้าเป็นพระสวย จะเห็นคราบปรอทคลุมองค์พระทั้งองค์ โดยเฉพาะด้านหน้า แต่คราบจะไม่เสมอกันทั้งองค์ ดูเผินๆ เหมือนพระใหม่แต่หากส่องดูจะพบว่าปรอทมีความแห้งไม่แวววาวเหมือนของใหม่ และควรจะมีรอยปริรานหรือรอยระเบิดจากสนิมชินเงินบริเวณพื้นผิวองค์ด้านหน้า หรือด้านหลัง ซึ่งจะมีทุกองค์ไม่มากก็น้อย ส่วนพระใช้ช้ำ บนพื้นผิวที่ถูกสัมผัสมากๆ ก็จะมีลักษณะแวววาวหม่นๆ ของตะกั่วผสมเงิน จะพบปรอทเล็กน้อยตามซอกองค์พระ มักจะพบรอยปริรานและรอยระเบิดผุจากสนิมตีนกาเสมอ
พระชินแก่ตะกั่ว พระชินแก่ตะกั่วมักจะไม่มีรอยปริรานหรือระเบิดของชินให้เห็นเนื้อจากตะกั่ว มีความอ่อนตัวอยู่ แต่จะพบคราบสนิมชินตะกั่วเป็นคราบดำๆ อยู่ตามซอกต่างๆ ขององค์พระ ส่วนบริเวณที่มีการสัมผัสมากจะคล้ายตะกั่ว พระชินเขียว พระชินเขียวที่มีอายุเก่าแก่จะขึ้นไขคล้ายไข่แมงดาไขจะมีความมันชื้นอยู่ในตัวไม่แห้ง พระตะกั่วสนิมแดง พระเนื้อตะกั่วเมื่ออยู่ในกรุที่มีความร้อนชื้นเป็นเวลาหลายร้อยปีจะเกิด สนิมตะกั่วสีแดงขึ้นและคลุมด้วยคราบไขคล้ายหินปูนอีกชั้นหนึ่งเมื่อล้างคราบ หินปูนออกด้วยกรรมวิธีที่ถูกต้อง ก็จะเห็นผิวสนิมแดงที่เป็นธรรมชาติ คือ ปริราน เหมือนใยแมงมุมทั่วๆ ทั้งองค์พระที่เป็นสนิมแดงนั้นๆ 

บรมครูฤาษีพรหมปัญโญมหาโพธิสัตว์ หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์

ปี ๒๕๕๕ หน้าตัก กว้าง ๖ นิ้ว สูง ๑๑ นิ้ว บรมครูฤาษีพรหมปัญโญมหาโพธิสัตว์ ผู้ทรงยิ่งด้วยความเมตตา ความกรุราต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระองค์ท่านเปรียญเสมือนตัวแทนขององค์พระฤาษีทุกๆองค์ที่เราเคารพบูชา โดยจำลองแบบเป็นพระฤาษีมี ๔ หน้า นั่งสมาธิที่มือมีลูกแก้วสารพัดนึก ๔ หน้า เป็นตัวแทนของพระฤษีทุกองค์ที่มีความเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย หลวงปู่หงษ์ พรหมปํญโญ วัดเพชรบุรี สุสานทุ่งมน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เกจิมากเมตตาแห่งเมืองสุรินทร์ (พระครูปราสาทพรหมคุณ)หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ วัดเพชรบุรี ณ สุสานทุ่งมน ต.ทุ่งมน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เกจิอาจารย์ผู้เปี่ยมไปด้วยเมตตาบารมีแห่งแดนอีสาน หลวงปู่ท่านมีพระเวทวิทยาคมมีพลังจิตญานสูง วัตถุมงคลที่ท่านอธิษฐานจิตปลุกเสก ล้วนแล้วแต่ศักดิ์สิทธิ์เข้มขลัง ท่านมีบุญญาบารมีมากเป็นที่เคารพบูชา เป็นที่พึ่งของ ของเหล่าบรรดายานุศิษย์และประชาชนทั่วประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านเลยทีเดียว เคยมีผู้สามารถสัมผัส และจับพลังจิตได้ลองสัมผัสพลังจิตวัตถุมงคลของหลวงปู่ หลายท่านบอกว่ามีพลังจิตสูงมาก ดังนั้นวัตถุมงคลของท่านจึงเป็นสุดยอดของดีที่ควรมีไว้บูชาเป็นอย่างยิ่ง นะโม 3จบ นะเมติ 12 จบ ดีนักแล